คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828-2829/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของโจทก์เพียงแต่นำคำเบิกความของตัวโจทก์และพยานมากล่าว แล้วสรุปตามคำเบิกความนั้นว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายมิได้โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยนั้นคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรให้ชัดแจ้ง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
ลูกจ้างเป็นผู้ช่วยสมุหบัญชี ไม่มีหน้าที่ต้องไปศาลการที่นายจ้างให้ลูกจ้างนั้นไปเบิกความที่ศาลจึงไม่เกี่ยวกับการทำงาน ไม่เป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นเมื่อลูกจ้างไม่ไปเบิกความตามที่นายจ้างสั่งจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 4

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่ได้ทำผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ให้โจทก์ทั้งสาม

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 4 เป็นลูกจ้างประจำจำเลยให้โจทก์ที่ 4 ไปเบิกความเท็จที่ศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ 4 ไม่ไป จำเลยไล่โจทก์ที่ 4 ออกจากงาน อันเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอศาลพิพากษาให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย ให้แก่โจทก์ที่ 4

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ละทิ้งหน้าที่เกินกว่าสามวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์ที่ 4 ฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง ทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้กระทำการใด ๆ อันจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทำความผิดอย่างร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 4 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 4 และให้ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์ที่ 4 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จ่ายค่าจ้างที่ค้าง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหาย แก่โจทก์ที่ 4 ยกฟ้องโจทก์ที่ 1

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เพียงแต่นำคำเบิกความของตัวโจทก์และพยานในสำนวนมากล่าวแล้วสรุปตามคำเบิกความดังกล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย มิได้โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางนั้นคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรให้ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

วินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่อุทธรณ์เฉพาะโจทก์ที่ 4 ว่า โจทก์ที่ 4 เป็นผู้ช่วยสมุหบัญชีไม่มีหน้าที่ต้องไปศาล การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ที่ 4 ไปเบิกความที่ศาลแรงงานกลางจึงไม่เกี่ยวกับการทำงาน ไม่เป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) โจทก์ที่ 4 ไม่ไปเบิกความตามที่จำเลยสั่งไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง

พิพากษายืน

Share