แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับด้วยความประมาทชนรถของโจทก์เสียหาย ขอให้ร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกรถยนต์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกแรงงานร่วมกันรับจ้างบรรทุกของของผู้อื่น แล้วจำเลยที่ 2 นำสืบในทำนองนี้ และว่าจำเลยที่ 2ไม่ได้ตกลงทำสัญญารับจ้างขนของรายนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปตกลงเองผลประโยชน์แบ่งกันคนละครึ่ง ดังนี้ เห็นได้ว่าการดำเนินกิจการเกี่ยวกับรถยนต์คันนี้ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกแรง จำเลยที่ 2 เป็น ผู้ออกทรัพย์เมื่อการกระทำของหุ้นส่วนทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดร่วมกันและแทนกัน และคดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนด้วย คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 หรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นคนขับรถยนต์ เลขทะเบียน ก.ท.ว.๑๑๑๐๖ เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถดังกล่าวและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และปฏิบัติตามคำสั่งและในทางการที่จ้างและธุรกิจของจำเลยที่ ๓ โดยบรรทุกลูกระเบิดซึ่งจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ ร่วมกันรับจ้างขนส่งจำเลยที่ ๑ ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินอัตรา ได้ขับด้วยความประมาทชนรถยนต์อีซูซุ ก.ท.ร.๑๐๙๐๔ ของโจทก์ตกลงในคูเสียหายมากและนายประยูรแซ่เงียะ ลูกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นคนขับได้รับบาดเจ็บ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระค่าซ่อมแซมรถ ๓๗,๙๖๕ บาท ค่าเสียเวลาไม่ได้ใช้รถระหว่างซ่อม ต้องเช่ารถผู้อื่น ๖๐,๐๐๐ บาท ค่ารถเสื่อมราคา ๕๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยจากเงินค่าซ่อมรถนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ ก.ท.ร.๑๐๙๐๔ จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ความจริงจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกรถยนต์ จำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายออกแรงงานร่วมกันรับจ้างบรรทุกลูกระเบิดจำเลยที่ ๓ จึงเป็นนายจ้าง การที่รถชนกันเป็นความประมาทของลูกจ้างโจทก์ค่าเสียหายไม่เท่าที่ฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ ๒ และปฏิเสธว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทน ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างหรือคำสั่งของจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถชนรถโจทก์โดยละเมิด จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดด้วย ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันและแทนกันชำระค่าซ่อมรถ ๓๓,๐๐๑ บาท ค่าเช่ารถจากคนอื่น ๓๐,๐๐๐ บาท ค่ารถเสื่อมราคา ๑๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยในเงินค่าซ่อมรถ ๓๓,๐๐๑ บาท นับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จส่วนจำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิด ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วยนั้น ข้อนี้จำเลยที่ ๒ ได้ให้การไว้ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกรถยนต์ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกแรงงานร่วมกันรับจ้างบรรทุกลูกระเบิดให้องค์การ ร.ส.พ. และในการนำสืบ จำเลยที่ ๒ ก็นำสืบในทำนองนี้ เพียงแต่ว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ไปตกลงทำสัญญากับองค์การ ร.ส.พ. เองเท่านั้น จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ไปตกลงเอง ส่วนผลประโยชน์แบ่งกันคนละครึ่ง ดังนี้ จึงเห็นได้ชัดว่าการดำเนินกิจการเกี่ยวกับรถยนต์คันนี้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ เข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันโดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกแรง จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกทรัพย์ เมื่อการกระทำของหุ้นส่วนทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันในกิจการของหุ้นส่วน และคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนด้วย คดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ หรือไม่
เมื่อวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นด้วยแล้ว พิพากษายืน