แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขอรังวัดที่ดินตามโฉนดของตนเพื่อทำแผนที่หลังโฉนดขึ้นใหม่ การรังวัดได้กระทำไปโดยได้แจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงทุกแปลงไประวังแนวเขต แต่มิได้แจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านหนึ่งทราบด้วย แล้วจำเลยที่ 1 นำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ดังนี้ ต้องถือว่าการออกโฉนดของจำเลยที่ 1 ซึ่งแก้ไขใหม่นั้นได้กระทำไปโดยไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่รุกล้ำเข้าไปนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะโอนขายที่ดินตามโฉนดนั้นให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 รับซื้อไว้โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว ก็เป็นการโอนสิ่งซึ่งตนไม่มีสิทธิ หาก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 ในที่ดินที่รังวัดรุกล้ำไปนั้นไม่ จำเลยที่ 2 จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299, 1300 มายันโจทก์หาได้ไม่
จำเลยจ้างให้คนทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญของโจทก์ ขณะที่กำลังฝังเสาจะทำรั้วอยู่นั้น โจทก์พบเข้าก็ได้ห้ามปรามคนเหล่านั้นก็เลิกทำ อีก 2 วันต่อมาได้กลับมาทำรั้วต่ออีกพอโจทก์ห้ามก็ขนเครื่องมือหนีไป การลักลอบเข้าไปปักเสารั้วแล้วหนีไปเมื่อถูกห้ามเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เข้าแย่งการครอบครองของโจทก์มาได้แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ๑ แปลง เป็นที่ดินไม่มีโฉนดจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๔๒๖๔ อยู่ติดกับที่ดินโจทก์ทางตะวันตกเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ โจทก์พบว่ามีรั้วลวดหนามกั้นรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ทางตะวันตกประมาณ ๑๐๐ ตารางวา โจทก์ไปสอบเรื่องดูจึงทราบว่าเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๑๖ จำเลยที่ ๑ ได้นำรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑ รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เจ้าพนักงานได้ทำแผนที่หลังโฉนดจำเลยที่ ๑ เสียใหม่ว่าที่ดินที่จำเลยที่ ๑ รุกล้ำนั้นเป็นที่ดินภายในโฉนดของจำเลยที่ ๑ ด้วย จำเลยได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง ยังเหลือที่ดินโฉนดที่ ๔๒๖๔ เพียง ๑ งาน ๒๑ ตารางวา แล้วจำเลยที่ ๑ ได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้จำเลยที่ ๒ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการตามคำพิพากษา ถ้าไม่สามารถบังคับได้ก็ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ ๔๒๖๔ ของจำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจนกระทั่งแบ่งแยกโฉนดและโอนที่ดินส่วนพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ได้จัดการทำรั้วกั้นอาณาเขต โจทก์ก็มิได้ทักท้วงโต้แย้ง แม้จะฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์จำเลยทั้งสองก็ได้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทและทำรั้วกั้นเขตที่พิพาทมาเกินกว่า ๑ ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ได้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๑ และจดทะเบียนการได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และได้ครอบครองมาโดยสงบและเปิดเผยในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมา โจทก์จะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้ คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยนิติกรรมแต่มิได้จดทะเบียนการได้มาจึงไม่สมบูรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์มีสิทธิครอบครองให้จำเลยทั้งสองไปยื่นคำร้องขอแก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๒๖๔ ให้ถูกต้องถ้าไม่สามารถจัดการได้ก็ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๘๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังว่า จำเลยที่ ๑ ได้นำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่พิพาทในเขตที่ดินของโจทก์ ข้อที่จำเลยฎีกา โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๑ ได้นำรังวัดที่ของโจทก์ก่อนวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๗ และทราบว่าจำเลยที่ ๑ ได้เอาเสาคอนกรีตพร้อมด้วยลวดหนามทำเป็นรั้วเข้าไปในที่ดินของโจทก์๑๐๐ ตารางวาเศษ ก่อนวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๗ แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๘ จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ นั้น ได้ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่๔ พฤษภาคม ๒๕๐๗ ขอตรวจสอบดูโฉนดและเรื่องราวที่เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดต่อทางตะวันออกรังวัดทับที่ของโจทก์ ยังไม่ปรากฏว่ามีการรบกวนการครอบครองที่พิพาทของโจทก์อย่างใด ต่อมาวันที่ ๕ เดือนนั้นโจทก์จึงไปพบชาย ๓ คนกำลังฝังเสาจะทำรั้วเข้าไปในที่ของโจทก์ โจทก์ห้ามปรามชาย ๓ คนนั้นว่ามีผู้จ้างมา เมื่อโจทก์ห้ามแล้วก็เลิกไป รุ่งขึ้นก็ไม่มีเหตุการณ์อันใด ครั้นวันที่ ๗ เดือนนั้น โจทก์เห็นชาย ๓ คนเดินนั้นฝังเสารั้วเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทางด้านใต้ประมาณ ๑๐ วา โจทก์ห้ามปราบชาย ๓ คนนั้นก็ขนเครื่องมือหนีไป รุ่งขึ้นวันที่ ๘ โจทก์จึงไปแจ้งความว่าจำเลยที่ ๑กับพวกทำรั้วรุกล้ำที่โจทก์ และในวันนั้นเอง ที่พิพาทถูกล้อมรั้วลวดหนามรอบ เว้นแต่ทางเหนือพอเข้าออกได้ การที่มีผู้ลักลอบเข้าไปปักเสารั้วในที่ดินของโจทก์ในวันที่ ๕ และ ๗ พฤษภาคม นั้น เมื่อโจทก์ไปพบ ได้ห้ามปรามพวกนั้นก็หนีไป พฤติการณ์ดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้เข้าแย่งการครอบครองที่พิพาทของโจทก์มาได้ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ยังครอบครองที่พิพาทโดยเข้าปลูกพืชผักสวนครัวสืบต่อมา ที่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๘ จึงยังไม่หมดสิทธิฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนทางทะเบียนซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ ๒ รับซื้อไว้จากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิแล้วนั้น ปรากฏว่าการรังวัดที่ดินได้กระทำไปโดยได้แจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงทุกแปลงไประวังแนวเขต แต่มิได้แจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงทราบด้วยแล้วจำเลยที่ ๑ กลับนำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ด้วย จึงต้องถือว่าการออกโฉนดที่ ๔๒๖๔ ซึ่งได้แก้ไขใหม่นั้นได้กระทำไปโดยไม่ชอบจำเลยที่ ๑ ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาท การที่จำเลยที่ ๑ โอนขายให้จำเลยที่ ๒ จึงเป็นการโอนสิ่งซึ่งตนไม่มีสิทธิ หาก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับโอนไม่ จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙, ๑๓๐๐ มาใช้ยันโจทก์หาได้ไม่
พิพากษายืน