คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18343/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท แต่ยกข้อต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าไม่มีมูลหนี้ ภาระการพิสูจน์ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อโจทก์จึงตกแก่จำเลยผู้สั่งจ่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 203,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2553 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่ให้เกินกว่า 3,500 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของจำเลยคงมีแต่คำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เพื่อนำไปแลกเงินสดให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่ได้รับเงินจากโจทก์เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้และโจทก์ไม่ยอมคืนเช็คแก่จำเลย แต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อให้ได้รับเช็คพิพาทกลับคืนมาจากโจทก์ เช่น แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจไว้เป็นหลักฐาน หรือแจ้งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท หรือมีหนังสือทวงถามไปยังโจทก์ เพื่อจะใช้เป็นพยานหลักฐานอ้างอิงในภายหลัง อีกทั้งเช็คพิพาทมีจำนวนเงินถึง 200,000 บาท หากยังไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ขณะรับเช็ค จำเลยก็น่าจะทำบันทึกการรับเช็คให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะมอบให้แก่โจทก์ไปโดยที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เชื่อได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ลงวันที่ในเช็คพิพาทนั้น ในข้อนี้โจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้กรอกข้อความทุกอย่างในเช็คพิพาท ซึ่งไม่มีเหตุผลอันใดที่โจทก์จะเบิกความเท็จในข้อนี้เพราะแม้เช็คพิพาทไม่ลงวันที่ออกเช็ค ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคห้า ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้สิทธิโจทก์ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริตสามารถจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงได้เองอยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงก็น่าจะมีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือมาแสดงนั้น เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาท ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค มิได้ฟ้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่จำต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ดังนั้น เมื่อภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย แต่พยานหลักฐานของจำเลยรับฟังไม่ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็น

Share