คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1829/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง ยังไม่มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ออกใช้บังคับ การกระทำอันมีองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ฯลฯ นั้น ยังไม่มีกฎหมายกำหนดโทษให้หนักขึ้นในขณะจำเลยกระทำผิดโจทก์ย่อมขอให้ศาลใช้มาตรา 340 ตรี เป็นบทลงโทษหรือนำไปประกอบมาตรา 340 วรรค 4 เพื่อให้โทษหนักขึ้นมิได้ คงได้แต่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรค 4 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิด แต่เมื่อปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ออกใช้บังคับข้อ 14 ประกาศนี้แก้ไขโทษของมาตรา 340 วรรค 4 เดิมให้เบาลงก็ต้องใช้มาตรา 340 วรรค 4 ตามที่แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 14 บังคับแก่คดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3โจทก์จะอ้างว่าโทษตามมาตรา 340 วรรค 4 ที่แก้ไขใหม่โดยประกาศข้อ 14 ให้เพิ่มขึ้นกึ่งหนึ่งตามมาตรา 340 ตรี. ที่บัญญัติเพิ่มเติมขึ้นโดยข้อ 15 คำนวณโทษแล้วมีอัตราหนักกว่ามาตรา 340 วรรค 4 เดิมมาตรา 340 วรรค 4 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ที่แก้ไขใหม่นั้นไม่เป็นคุณแก่จำเลย จะต้องวางโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรค 4 เดิม ดังนี้ หาถูกต้องไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก ๒ คน ได้ร่วมกันมีอาวุธปืนติดตัวไปกระทำการปล้นเอาทรัพย์ของนายเจริญ สารักษ์ ไปโดยจำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญเจ้าทรัพย์ ได้ร่วมกันชกต่อยเจ้าทรัพย์กับใช้ปืนยิงพลฯ สุพล ไทยเล็ก ๑ นัด โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนไม่ถูกอวัยวะสำคัญ พลฯ สุพลจึงไม่ถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การปล้นทรัพย์และพาเอาทรัพย์ไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘,๒๘๙, ๘๐, ๘๓ และ ๓๔๐, ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ตามฟ้อง แต่ขณะเกิดเหตุพลตำรวจสุพล ไทยเล็ก กับพวกมิได้แต่งเครื่องแบบและไม่ได้แสดงตนว่าเป็นตำรวจ จำเลยย่อมไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔,๘๓ และมีความผิดตามมาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๘๓ แต่อัตราโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๑๔ มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ เบากว่ากฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ จึงให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ให้จำคุกจำเลยทั้งสามไว้คนละ ๒๐ ปี ให้จำเลยคืนและใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์ด้วย
โจทก์ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ ๑ ผู้เดียวใช้ปืนยิงพลตำรวจสุพลเพื่อสะดวกในการปล้นทรัพย์ โดยจำเลยที่ ๒, ๓ ไม่ได้ร่วมกระทำผิดฐานนี้ด้วยพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ ไม่ได้ร่วมกระทำผิดฐานนี้ด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๑๔ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ให้วางโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙(๖), ๘๐ ด้วย ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙(๖), ๘๐ ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ซึ่งแก้ไขใหม่โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๑๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ แต่ให้วางโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย คงให้จำคุกจำเลยที่ ๑ไว้ตลอดชีวิต และจำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไว้คนละ ๒๐ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๔ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไว้สองสถานคือ จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี ต่อมาวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ก่อนยื่นฟ้องจำเลยคณะปฏิวัติได้มีประกาศฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๑๔, ๑๕ แก้ไขโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ให้หนักยิ่งกว่าเดิม กล่าวคือโทษตามมาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ที่แก้ไขใหม่โดย ข้อ ๑๔ ให้เพิ่มขึ้นกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๓๔๐ ตรี ที่บัญญัติเพิ่มเติมขึ้นโดยข้อ ๑๕ ซึ่งเมื่อคำนวณอัตราโทษเพิ่มขึ้นแล้วจะมีอัตราขั้นต่ำถึงจำคุกยี่สิบสองปีหกเดือน หนักกว่าตามมาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ เดิม โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิดมิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ประกอบด้วย มาตรา ๓๔๐ ตรีที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวแล้ว เพราะกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย แม้ความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงนี้ มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ที่แก้ไขใหม่ได้กำหนดโทษไว้แล้ว และมาตรา ๓๔๐ ตรี ได้กำหนดโทษซ้ำขึ้นมาอีก ให้มีโทษหนักขึ้นก็ต้องใช้อัตราโทษบทหนักปรับแก่คดีตามเจตนารมณ์ของคณะปฏิวัติจึงต้องวางโทษจำเลยในความผิดฐานปล้นทรัพย์และใช้ปืนยิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ เดิม
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักในการใช้กฎหมายอาญาปรับแก่คดีมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ ว่า บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ มีข้อยกเว้นตามมาตรา ๓ แห่งประมวลกฎหมายฉบับเดียวกันนั้นว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กำหนดในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด คดีนี้ ปรากฏว่าในขณะจำเลยกระทำผิดยังไม่มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ออกใช้บังคับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การกระทำอันมีองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๓๔๐ ตรี ฯลฯ นั้น ยังไม่มีกฎหมายกำหนดโทษให้หนักขึ้นในขณะจำเลยกระทำผิดแต่อย่างใดเลยโจทก์จึงขอให้ศาลใช้มาตรา ๓๔๐ ตรีเป็นบทลงโทษดังโจทก์ฎีกาไม่ได้ และย่อมรวมถึงจะนำไปประกอบมาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ เพื่อให้โทษหนักขึ้นมิได้ด้วย คงขอให้ลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิดก่อนมีการแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ และเมื่อปรากฏว่ามาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ที่แก้ไขใหม่โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๑๔ มีโทษเบากว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ เดิมแล้ว ก็ต้องใช้มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๑๔ บังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓ เพราะเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share