คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1828/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยฟ้องแย้งแม้จะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดอันเดียวกันต่อเนื่องกัน และที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสามให้จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การได้นั้น ก็เป็นบทบัญญัติที่ผ่อนผันให้จำเลยฟ้องมาในคำให้การได้เพื่อความสะดวกแก่จำเลยโดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ให้ยุ่งยากและเสียเวลา แต่การที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าหนี้ โจทก์เป็นลูกหนี้จึงเป็นคนละฝ่ายกัน ดังนั้นการฟ้องคดีของโจทก์ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็เฉพาะโจทก์ ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ฟ้องแย้งด้วย เมื่อจำเลยฟ้องแย้งพ้น 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถด้วยความประมาทในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเหตุให้รถโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและจำเลยที่ ๓ ฟ้องแย้งว่า คนขับรถของโจทก์เป็นฝ่ายประมาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๓ ด้วย
โจทก์ให้การฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้น พิพากษาฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓
โจทก์และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกาจำเลยที่ ๑ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ขับรถบรรทุก ๖ ล้อเลขทะเบียน ล.พ.๐๔๙๒๙ ของจำเลยที่ ๓ ในทางการที่จ้างไปตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายลำปาง – เชียงใหม่ มุ่งไปทางทิศเหนือ เมื่อถึงทางแยกด้านซ้ายซึ่งเลยสะพานข้ามแม่น้ำกวงไปเล็กน้อยจำเลยที่ ๑ ได้เลี้ยวซ้ายจะเข้าทางแยกนี้เพื่อไปที่ฟาร์มกุ้งของจำเลยที่ ๒ นายละเอียดพรหมชาติ คนขับรถโดยสารประจำทางเลขทะเบียน ต.ก.๐๔๗๙๓ สายกรุงเทพมหานคร – เชียงใหม่ ของโจทก์ขับตามมาได้แซงชนท้ายรถของจำเลยที่ ๓ รถทั้งสองคันตกริมถนนด้านซ้าย และวินิจฉัยว่าลูกจ้างโจทก์เป็นฝ่ายขับรถโดยความประมาทเลินเล่อโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย
ส่วนในปัญหาที่ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ ขาดอายุความหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีได้ความว่าเหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๒๓ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๒๔ และจำเลยที่ ๓ ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเมื่อวันที่ ๑๗มีนาคม ๒๕๒๔ ซึ่งพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยที่ ๓ รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า การฟ้องคดีของโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓เป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ต้องเป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยที่ ๓ เช่นกัน เพราะสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามคดีนี้สืบเนื่องมาจากมูลละเมิดอันเดียวกันต่อเนื่องกัน และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง (ที่ถูกเป็นวรรคสาม)ให้สิทธิจำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ การที่โจทก์ฟ้องก่อนวันสุดท้ายแห่งอายุความอายุความจึงสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่โจทก์ฟ้อง และเริ่มนับอายุความต่อเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่จำเลยที่ ๓ มีสิทธิยื่นคำให้การ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าแม้จะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดอันเดียวกันต่อเนื่องกันดังที่จำเลยที่ ๓ อ้าง และการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๗ วรรคสาม ให้จำเลยฟ้องแย้งมมาในคำให้การก็ได้นั้น ก็เป็นบทบัญญัติที่ผ่อนผันให้จำเลยฟ้องมาในคำให้การได้เพื่อความสะดวกแก่จำเลยโดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ให้ยุ่งยากและเสียเวลา แต่การที่จำเลยที่ ๓ ฟ้องแย้งโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหนี้ โจทก์เป็นลูกหนี้เป็นคนละฝ่ายกันดังนั้นการฟ้องคดีของโจทก์ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็สะดุดหยุดลงเฉพาะโจทก์ หาได้เป็นคุณแก่จำเลยที่ ๓ ซึ่งฟ้องแย้งไปด้วยตามที่จำเลยที่ ๓ฎีกาไม่ เมื่อจำเลยที่ ๓ ฟ้องแย้งพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยที่ ๓ รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน

Share