คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1827/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 29(พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งให้ทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องชำระภาษีให้ครบจำนวนภายในกำหนดระยะเวลาตามที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 5 และข้อ 6 มิใช่เพียงแต่ยื่นคำร้องเป็นหนังสือตกลงยินยอมชำระภาษีและของดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อลูกหนี้ยังมิได้ชำระภาษีให้ครบจำนวนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงลูกหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นอกจากนั้นเมื่อลูกหนี้ได้รับแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าหนี้แล้วลูกหนี้มิได้ยื่นคำคัดค้านการประเมินต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินจึงเป็นการสละการใช้สิทธิคัดค้านต่ออธิบดี สละสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และสละสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 86,89 และ96 หนี้ภาษีของลูกหนี้ย่อมถึงที่สุด การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้กรมสรรพสามิตเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้โดยไม่งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2543 โดยมีบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์สคอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด เป็นผู้บริหารแผน

เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีสรรพสามิต เบี้ยปรับเงินเพิ่ม และภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย รวมเป็นเงินจำนวน 262,189,860.34 บาท

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 90/29 แล้ว ปรากฏว่าผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ว่าเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มเพราะเป็นหนี้ที่เกิดหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและลูกหนี้ได้รับการลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าภาษีสรรพสามิต เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยรวมเป็นเงิน 258,363,587.64 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนนับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จจากลูกหนี้

ลูกหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ลูกหนี้ได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีสรรพสามิตตามแบบ ต.ส.04-10 ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของเจ้าหนี้โดยประสงค์จะขอให้เจ้าหนี้ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นอกจากนั้นการที่ลูกหนี้จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ยื่นแบบรายการภาษีเองและขอชำระภาษีโดยมิได้รับคำเตือนหรือหนังสือเรียกหรือคำสั่งเป็นหนังสือ ทั้งลูกหนี้ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ลูกหนี้จึงมีสิทธิได้ลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎกระทรวงฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2536) ขอให้มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับทั้งหมด

เจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านว่า ลูกหนี้มิได้ชำระภาษีสรรพสามิตให้ครบจำนวนและไม่ได้ทำคำร้องขอลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ถูกต้อง จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2536) ข้อ 5 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้ลูกหนี้ต้องขอลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย นอกจากนั้นยังปรากฏว่าในวันที่ 13 ธันวาคม 2543อธิบดีกรมสรรพสามิตได้มีคำสั่งไม่งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ลูกหนี้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบแล้ว

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของลูกหนี้

ลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของลูกหนี้ว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้โดยไม่งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มชอบหรือไม่ เห็นว่า หลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มย่อมจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งให้ทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องชำระภาษีให้ครบจำนวนภายในกำหนดระยะเวลาตามที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 5 และข้อ 6 มิใช่เพียงแต่ยื่นคำร้องเป็นหนังสือตกลงยินยอมชำระภาษีและของดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังที่ลูกหนี้อ้างเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกหนี้ยังมิได้ชำระภาษีให้ครบจำนวนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้นลูกหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นอกจากนั้นเมื่อลูกหนี้ได้รับแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าหนี้แล้วลูกหนี้มิได้ยื่นคำคัดค้านการประเมินต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินจึงเป็นการสละการใช้สิทธิคัดค้านต่ออธิบดี สละสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และสละสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 มาตรา 86, 89 และ 96 หนี้ภาษีของลูกหนี้ย่อมถึงที่สุดดังนั้นการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้โดยไม่งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share