แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยใช้เครื่องหมาย “SUPERWARE” เลียนเครื่องหมายการค้า”TUPPERWARE” ของโจทก์เป็นละเมิด ศาลห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายในสินค้าของจำเลยกับให้ใช้ค่าเสียหาย แม้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร ก็จำต้องพิจารณาถึงการประดิษฐ์ส่วนประกอบ และตัวสินค้าประกอบด้วย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า “SUPERWARE”ลงในสินค้าของจำเลยต่อไป กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำจากวัสดุประเภทพลาสติกโดยทำการผลิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้เครื่องหมายการค้าเขียนเป็นอักษรโรมันว่า “TUPPERWARE” (อ่านว่า ทัพเพอร์แวร์) และ “TUPPERCRAFT” (อ่านว่าทัพเพอร์คร๊าฟท์) ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยด้วยในสินค้าจำพวก 50 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 32419 และเลขที่ 31804ตามเอกสารท้ายฟ้อง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2507 ซึ่งได้ต่ออายุเครื่องหมายการค้านี้แล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2517 โจทก์ส่งสินค้าพวกเครื่องมือเครื่องใช้และภาชนะทำด้วยพลาสติก ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 32419 ดังกล่าวที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “TUPPERWARE” ในสินค้าจำพวก 50 เช่น ชามโคมผสมขนาดเล็ก ชามโคมผสมขนาดกลาง ชามโคมผสมขนาดใหญ่ โหลสามใบเถากล่องขนมปังปอนด์ กล่องครีมแครกเกอร์ คนโทปิคนิคขนาดใหญ่ คนโทปิคนิคขนาดเล็กพร้อมสายหิ้ว เหยือกใส่นมสด กล่องสี่เหลี่ยมเหมันต์เล็ก 4 ใบเถา กล่องสี่เหลียมเหมันต์กลาง 3 ใบเถา ชามโคมประดับสีชุด 3 ใบ ถ้วยสายรุ้งชุด 6 ใบ แก้ว 6 สีชุดใหญ่ กระเช้าเนรมิตเล็ก กล่องเนรมิตใหญ่พร้อมสาย ขวดโหลคุกกี้ชนิดฝาจีบ ปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.36 มาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2510 และจำหน่ายโดยวิธีปาร์ตี้แพลน กล่าวคือ ผู้ขายสินค้าของโจทก์เป็นผู้นำสินค้าไปถึงบ้านผู้ซื้อ จัดให้มีการชุมนุมผู้ที่จะซื้อ โดยผู้ขายสินค้าของโจทก์เป็นพิธีกร อธิบายคุณภาพและวิธีใช้สินค้าของโจทก์ตามตัวอย่างสินค้าที่นำไป หากมีผู้สั่งซื้อก็จะนำใบสั่งเหล่านั้นมาซื้อยังบริษัทตัวแทนของโจทก์แล้วจึงนำสินค้าไปส่งให้ผู้ซื้อสินค้าของโจทก์ สินค้าของโจทก์ไม่มีวางขายในท้องตลาด เมื่อ พ.ศ. 2505 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 22770 ในสินค้าจำพวก 12 ทั้งจำพวก โดยมีเครื่องหมายเป็นรูปนกเพนกวินอยู่ในวงกลม มีอักษรโรมัน “PENGUIN” ขนาดสูง ประมาณ 1 ใน 9 ของรูปนกเพนกวินอยูภายในวงกลมใต้รูปนก ซึ่งได้ต่ออายุเมื่อ พ.ศ. 2512 ต่อมาพ.ศ. 2506 จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 26598 ในสินค้าจำพวก 49 ทั้งจำพวก โดยมีเครื่องหมายเป็นรูปนกเพนกวินอยู่ในวงกลม 2 เส้น มีอักษรโรมัน “PENGUIN BRAND” ขนาดสูงประมาณ 1 ใน 4 ของรูปนกเพนกวินอยู่ใต้วงกลมและในปีเดียวกันนี้ จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 26609 ในสินค้าจำพวก 50 คือ สิ่งของต่าง ๆ ซึ่งทำด้วยพลาสติก โดยมีเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกับที่ได้จดทะเบียนสินค้าจำพวก 49 ซึ่งทั้งสองจำพวกหลังนี้ได้มีการต่ออายุเมื่อ พ.ศ. 2516 ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การ ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เดิมมีชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมศรีไทยพลาสติก จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2507 ต่อมา พ.ศ. 2516 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดซุปเปอร์แวร์จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2517 ดังขึ้น เพื่อขายสินค้าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ผลิตขึ้นหลังจากสินค้าของโจทก์ได้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแล้วห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ผลิตสินค้าภาชนะทำด้วยพลาสติกอย่างเดียวกันกับของโจทก์ปรากฏตามภาพถ่ายเปรียบเทียบเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.36 โดยใช้เครื่องหมายการค้ารูปนกเพนกวินในวงกลมเล็กต่อด้วยอักษรโรมัน คำว่า “SUPERWARE” ให้อยู่ในเส้นวงกลมใหญ่ซึ่งมีขนาดเดียวกับเส้นวงกลมของโจทก์ และมีวงกลมเล็ก 2 วงซ้อนกันอยู่ตรงกลาง มีอักษรโรมัน ว่า “MADF IN THAILAND” แปลว่า ทำในประเทศไทย อยู่ระหว่างวงกลมเล็กที่ซ้อนกัน ใต้วงกลมเล็กที่ซ้อนกันมีประโยคเป็นอักษรโรมันตัวเล็ก ๆ อีก 3 แถวและมีประโยคอักษรโรมันว่า “SRITHAI SUPERWARE INDUSTRY L.P.” แปลว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสากรรมศรีไทยซุปเปอร์แวร์ อยู่ชิดขอบล่างของเส้นวงกลมใหญ่สินค้าของจำเลยวางขายในท้องตลาดทั่วไป และก็ได้ขายโดยวิธีปาร์ตี้แพลน
คดีมีปัญหาว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า “SUPERWARE” เลียบแบบเครื่องหมายการค้า “TUPPERWARE” ของโจทก์เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หรือไม่
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยโดยตลอดแล้วข้อวินิจฉัยประการแรกมีว่า การที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า ” SUPERWARE” โดยมีรูปนกเพนกวินอยูในวงกลมอยู่ข้างหน้า ซึ่งมีความสูงขนาดเดียวกันกับตัวอักษรดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยนั้น จำเลยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้า”TUPPERWARE” ซึ่งใช้กับสินค้าของโจทก์หรือไม่ ปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 และโจทก์ได้ส่งสินค้าพวกเครื่องมือเครื่องใช้และภาชนะทำด้วยพลาสติกตามที่ได้จดทะเบียนไว้มาขายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.42 ว่า ในปี พ.ศ. 2510 ขายได้8 หมื่นบาทเศษ พ.ศ. 2511 ขายได้ 2 ล้านบาทเศษ พ.ศ. 2512 ขายได้เกือบ2 ล้านบาท พ.ศ. 2513 ขายได้ 3 ล้านบาทเศษ พ.ศ. 2514 ขายได้ 4 ล้านบาทเศษพ.ศ. 2515 ขายได้ 5 ล้านบาทเศษ พ.ศ. 2516 ขายได้ 12 ล้านบาทเศษ พ.ศ. 2517ขายได้ 47 ล้านบาทเศษ แสดงว่าสินค้าของโจทก์ได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ แทบทุกปี เดิมจำเลยที่ 1 มีชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมศรีไทยพลาสติก จดทะเบียนตั้งห้างเมื่อ พ.ศ. 2507 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2516 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และได้ผลิตสินค้าตามที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในจำพวกที่ 50 สำหรับสินค้า คือสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งทำด้วยพลาสติก มีรูปแบบ ขนาด และลักษณะอย่างเดียวกับสินค้าของโจทก์โดยแทบจะไม่มีข้อแตกต่างกัน สีสรรค์ก็เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน จะมีแตกต่างอยู่บ้างก็เป็นส่วนน้อย ปรากฏตามภาพถ่ายเปรียบเทียบ จ.20 ถึง จ.36 โดยใช้เครื่องหมาย “SUPERWARE” โดยมีรูปนกเพนกวินอยู่ในวงกลมอยู่ข้างหน้า ซึ่งมีความสูงขนาดเดียวกันกับตัวอักษรดังกล่าวกับสินค้าของจำเลย และได้ผลิตสินค้าประเภทถ้วยชาม จาน ซึ่งมีส่วนผสมด้วยผงเคมีพลาสติกชนิดหนึ่ง เรียกว่าเมลามิน ถ้วยชามจานเมลามินนั้นมีราคาแพงมาก ชุดเล็ก 45 ชิ้น มีราคา 1,800บาท ชุดใหญ่ 105 ชิ้น มีราคา 3,100 บาท จำเลยได้ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดซุปเปอร์แวร์จำเลยที่ 2 ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2517 เพื่อขายสินค้าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ผลิตขึ้น จำเลยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคือรูปนกเพนกวินส่วนคำว่า “SUPERWARE” เป็นคำสามัญในภาษาอังกฤษแปลว่า ภาชนะมีคุณภาพพิเศษหรือชั้นดีเลิศ เห็นว่าคำว่า “SUPERWARE” ของจำเลยกับคำว่า”TUPPERWARE” ของโจทก์นั้นคล้ายกันมา กจำเลยเพิ่งผลิตสินค้าอย่างเดียวกับโจทก์และนำคำว่า “SUPERWARE” มาใช้หลังจากที่โจทก์ส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแล้วถึง 6 -7 ปี และสินค้าของโจทก์กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนผู้ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่จำเลยที่ 1 ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมศรีไทยพลาสติก เมื่อ พ.ศ. 2507 จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อห้างเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสากรรมศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เมื่อ พ.ศ. 2516 ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยผลิตสินค้าอะไรออกมาขายและใช้เครื่องหมายการค้าอะไร เครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ในจำพวก 50 สำหรับสินค้า คือสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งทำด้วยพลาสติกนั้น เป็นรูปนกเพนกวินอยู่ในวงกลม 2 เส้น และมีอักษรโรมัน”PENGUIN BRAND” ขนาดสูงประมาณ 1 ใน 4 ของรูปนกเพนกวินอยู่ใต้วงกลม คือนกเพนกวินมีส่วนสูง 4 เท่าของตัวอักษรเห็นเด่นชัด แต่จำเลยกลับนำรูปนกเพนกวินแต่อย่างเดียวมาใช้ และมีคำว่า “SUPERWARE” ตามหลังโดยย่อส่วนรูปนกเพนกวินลงมากกว่า 3 ใน 4 ให้อยู่ในวงกลมขนาดเล็กซึ่งมีความสูงเท่ากับตัวอักษร “SUPERWARE” ทำให้รูปนกเพนกวินไม่เป็นที่น่าสังเกตและไม่เป็นที่สดุดตาเหมือนรูปนกเพนกวินควบคำว่า “PENGUIN”ที่จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ โดยไม่นำคำว่า “PENGUIN” มาใช้ด้วยเห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาให้ตัวอักษร “SUPERWARE” เห็นเด่นชัดเป็นเป้าหมาย ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งที่ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำนี้ไว้ เพื่อเลียนเครื่องหมายการค้า “TUPPERWARE” ของโจทก์ ถ้าจำเลยไม่มีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว เหตุใดจำเลยจึงไม่เอาเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ดังกล่าวมาใช้กับสินค้าของจำเลย ที่จำเลยอ้างว่าคำว่า “SUPERWARE” เป็นคำสามัญในภาษาอังกฤษแปลว่าภาชนะมีคุณภาพพิเศษหรือชั้นดีเลิศ คำว่า “SUPERWARE” ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของจำเลย เป็นเพียงคำโฆษณาคุณสมบัติสินค้าของจำเลยก็ฟังไม่ขึ้น เพราะจำเลยไม่ได้เอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จดทะเบียนไว้มาใช้กับสินค้าของจำเลยดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น รูปนกเพนกวินที่ย่อส่วนลงมามากกว่า 3 ใน 4 อยู่ในวงกลมเล็กที่มีส่วนสูงเท่ากัน ตัวอักษรและอยู่ข้างหน้าคำว่า “SUPERWARE” นั้นจึงเป็นการพลางเอาไว้เป็นข้อแก้ตัวเท่านั้น โจทก์จำหน่ายสินค้าโดยวิธีปาร์ตี้แพลน จำเลยที่ 3 ก็เบิกความรับว่า จำเลยเคยขายสินค้าพลาสติกแบบที่โจทก์ฟ้องนี้โดยวิธีปาร์ตี้แพลนอยู่ประมาณ 1 เดือน ที่เบิกความเบียงบ่ายไปว่าเริ่มขายแต่ปลายปี 2518 โดยก่อนนั้นใช้วิธีปาร์ตี้แพลนกับสินค้าเมลามินมาแล้วตั้งแต่ปี 2517 นั้นไม่น่าเชื่อ เพราะแบบใบสมัครเป็นพิธีกรซุปเปอร์แวร์ก็ดี แบบใบสั่งของลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าซุปเปอร์แวร์ก็ดี และแบบใบสั่งสินค้าของพิธีกรซุปเปอร์แวร์ก็ดี มีลักษณะคล้ายคลึงกับของโจทก์ส่อให้เห็นว่ามีการเลียนแบบของโจทก์เปรียบเทียบได้จากเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.19 จำเลยที่ 3 เบิกความว่าได้จำหน่ายสินค้าเมลามินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 แต่สินค้าซุปเปอร์แวร์แบบพลาสติกของจำเลยตามเอกสาร จ.20 ถึง จ.36 จำเลยที่ 3 ก็เบิกความว่าเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นก่อนสินค้าเมลามิน สินค้าทัพเพอร์แวร์ที่ทำจากพลาสติกของโจทก์ราคาอย่างต่ำ8 บาท อย่างสูง 138 บาท ของจำเลยอย่างต่ำ 5 บาท อย่างสูง 78 บาท ส่วนสินค้าเมลามินของจำเลยนั้นเป็นสินค้าจำพวกถ้วยชามจานมีราคาสูงมาก จานชุดเล็ก45 ชิ้นมีราคาถึง 1,800 บาท จานชุดใหญ่ 105 ชิ้น มีราคาถึง 3,100 บาท จึงไม่ใช่ของใช้ประจำวันที่ประชาชนทั่ว ๆ ไปจะพึงมีไว้ใช้ ที่จำเลยจะต้องโฆษณาโดยวิธีปาร์ตี้แพลน เพราะย่อมไม่คุ้มกับรายจ่ายที่ต้องจ้างพิธีกร ทั้งปรากฏว่าสินค้าเมลามินของจำเลยตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 นั้น จำเลยมิได้ปั๊มเครื่องหมายการค้าที่จำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ลงในสินค้าดังกล่าว ดังเช่นที่จำเลยทำกับสินค้าพลาสติกเลียนสินค้าของโจทก์ โจทก์นำสืบว่าจำเลยได้ชักจูงเอาพิธีกรขายทัพเพอร์แวร์ของโจทก์ไปเป็นพิธีกรของจำเลยเพื่อจำหน่ายสินค้าซุปเปอร์แวร์ของจำเลย ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบปฎิเสธในข้อนี้และรับว่าจำเลยมีพิธีกรขายสินค้าโดยวิธีปาร์ตี้แพลนถึง 200 คนเศษ จึงน่าเชื่อว่าที่จำเลยจัดให้มีการขายสินค้าโดยวิธีปาร์ตี้แพลนนั้น ก็คือสินค้าพลาสติกแบบเดียวกับของโจทก์ ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังที่ได้วินิจฉัยมาฟังได้ว่าจำเลยใช้เครื่องหมาย “SUPERWARE” โดยมีรูปนกเพนกวินอยู่ในวงกลมเล็กอยู่ข้างหน้า ซึ่งมีความสูงขนาดเดียวกับตัวอักษรดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยก็โดยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้า “TUPPERWARE” ซึ่งใช้กับสินค้าของโจทก์” ฯลฯ
“จำเลยรู้อยู่แก่ใจถึงความไม่สุจริตของตน แต่จำเลยก็ยังใช้เครื่องหมายการค้าเดิมเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ดี เพียงแต่ทำให้ลักษณะผิดแผกไปเท่านั้น สินค้าพลาสติกของโจทก์นอกจากที่จำเลยผลิตขึ้นมาโดยเลียนแบบสินค้าของโจทก์แล้ว ยังมีผู้อื่นผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดอีกมาก เช่นของเครื่องหมายการค้าทับบูล่าแวร์ คราวน์แวร์ สตาร์แวร์ ป๊อปแวร์ บิกเกสแวร์ดีปเปอร์แวร์ สจ๊วตแวร์ ปรากฏตามคำเบิกความของนายขจรเดช พยานจำเลยและภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.21 แม้จะมีคำว่า “แวร์” แต่ผู้ผลิตดังกล่าวก็มิได้ต่อเติมใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าเลียนชื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังเช่นที่จำเลยใช้เลย ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ ดังที่ได้วินิจฉัยมาแต่ต้นในเรื่องเจตนาของจำเลยก็ดี ในเรื่องเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ดี ในเรื่องการประดิษฐ์ส่วนประกอบเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลียนการประดิษฐ์ส่วนประกอบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ดี ในเรื่องชนิดของสินค้าที่จำเลยทำเครื่องหมายการค้าเลียนของโจทก์ไปใช้ก็ดี ฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “SUPERWARE” เลียนแบบเครื่องหมายการค้า “TUPPERWARE” ของโจทก์เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยจำต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยแก้ฎีกาโดยอ้างคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขึ้นมาสนับสนุน โดยจำเลยเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปนกเพนกวิน ส่วนอักษรโรมันคำว่า “SUPERWARE” ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ขึ้นลงไปว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จดทะเบียนไว้ในจำพวก 50 สำหรับสินค้า คือ สิ่งของต่าง ๆซึ่งทำด้วยพลาสติกนั้นเป็นรูปนกเพนกวินอยู่ในวงกลม 2 เส้น และมีอักษรโรมันว่า “PENGUIN BRAND”ขนาดสูงประมาณ 1 ใน 4 ของรูปนกเพนกวินอยู่ใต้วงกลม คือนกเพนกวินมีส่วนสูง 4 เท่าของตัวอักษร เหตุใดจำเลยจึงไม่เอามาใช้กับสินค้าของจำเลย ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยมีเจตนาใช้ตัวอักษร”SUPERWARE”และย่อส่วนนกเพนกวินอยู่ในวงกลมเล็กมาพลางไว้ข้างหน้าเพื่อเลียนเครื่องหมายการค้า “TUPPERWARE” ซึ่งมีเครื่องหมาย “R” อยู่ในวงกลมต่อท้ายของโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า สินค้าของจำเลยมีข้อความระบุถึงแหล่งกำเนิดสินค้าว่าผลิตในประเทศไทย โดยมีอักษรโรมันเขียนว่า “MADE INTHAILAND” และบอกชื่อผู้ผลิตว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมศรีไทยซุปเปอร์แวร์โดยเขียนเป็นอักษรโรมันว่า “SRITHAI SUPERWARE INDUSTRY L.P.” นั้น เห็นว่าทั้งสองประโยคนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ประกอบเครื่องหมายการค้า จำเลยประดิษฐ์และวางตำแหน่งเลียนประโยคส่วนประกอบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงเป็นการยากที่คนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษจะสังเกตุถึงความแตกต่างในข้อนี้ ส่วนคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษอยู่บ้างก็อาจจะไม่ได้สังเกตุถึงความแตกต่างดังกล่าว เพราะเมื่อดูเครื่องหมายการค้าและการประดิษฐ์ส่วนประกอบทั้งหมด ตลอดจนชนิดและขนาดของสินค้าแล้วจะมีความคล้ายคลึงกันมาก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าวิธีการจำหน่ายสินค้าของโจทก์และจำเลยแตกต่างกัน คือโจทก์จำหน่ายโดยวิธีปาร์ตี้แพลน สินค้าของโจทก์ไม่มีวางขายในท้องตลาดส่วนสินค้าของจำเลยวางขายในท้องตลาดทั่วไป จึงไม่มีทางที่จะให้ผู้ซื้อเกิดความสับสนในระหว่างสินค้าของโจทก์กับของจำเลยแต่อย่างใดนั้น เห็นว่าการที่โจทก์ขายสินค้าโดยวิธีปาร์ตี้แพลนนั้น ก็เป็นการโฆษณาอย่างหนึ่งจำเลยก็จัดให้มีการขายสินค้าพลาสติกชนิดเดียวกับโจทก์โดยวิธีปาร์ตี้แพลน เป็นการเลียนแบบโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่สินค้าของจำเลยนอกจากจะขายโดยวิธีปาร์ตี้แพลนแล้วยังมีการวางขายในท้องตลาดอีก สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าอย่างเดียวกับโจทก์และเลียนเครื่องหมายการค้าโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ประชาชนทั่วไปไม่อาจทราบได้ทุกคนว่าจะซื้อสินค้าของโจทก์ได้เฉพาะจากพิธีกรเท่านั้น และการที่โจทก์ขายสินค้าโดยวิธีปาร์ตี้แพลนนั้น ก็ไม่มีอะไรผูกพันโจทก์ที่จะต้องทำเช่นนั้นเสมอไป จึงอาจทำให้ประชาชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ การที่โจทก์ขายสินค้าโดยวิธีปาร์ตี้แพลน จึงไม่ใช่ข้อที่จำเลยจะอ้างว่าไม่มีทางที่จะทำให้ผู้ซื้อเกิดความสับสนในสินค้าของโจทก์กับของจำเลยแต่อย่างใดได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า หลังจากโจทก์จำเลยเกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าแล้ว จำเลยได้ทำป้ายติดสินค้าของจำเลยทุกชิ้น โดยมีข้อความระบุชัดว่าเป็นสินค้าของจำเลยซึ่งผลิตในประเทศไทย เป็นการแสดงถึงความเชื่อมั่นของจำเลยเพื่อให้ประชาชนทราบว่า สินค้าของจำเลยนั้นเป็นสินค้าของจำเลยเองมิใช่ของโจทก์หรือของผู้ใดอื่นนั้น เห็นว่าได้วินิจฉัยมาแล้วว่า การที่จำเลยทำเช่นนั้นก็เพื่อมิให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อบรรเทาความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้อยู่แก่ใจถึงความไม่สุจริตของตน มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องไปทำป้ายติดสินค้าของจำเลยอย่างรีบด่วนก่อนยื่นคำให้การ เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่เลียนโจทก์ ซึ่งการทำเช่นนี้ศาลชั้นต้นก็ได้ยกมาวินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลย โดยไม่ให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าการที่รูปร่างสินค้าของโจทก์กับของจำเลยเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันเป็นเรื่องของสิทธิบัตร ซึ่งยังไม่มีกฎหมายประเภทนี้ใช้บังคับในประเทศไทย ไม่ควรนำมาประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าเพราะเป็นคนละเรื่องกันนั้น เห็นว่า ในการเลียนแบบเครื่องหมายการค้า จะพิเคราะห์แต่เครื่องหมายการค้าอยางเดียวนั้นยังไม่พอ จำต้องพิจารณาถึงการประดิษฐ์ส่วนประกอบและตัวสินค้าซึ่งเป็นวัตถุอันมีเครื่องหมายการค้านั้นติดอยู่ด้วยเพราะโดยปกติ การที่สามัญชนจะจัดซื้อสิ่งของอย่างหนึ่งอย่างใดก็ย่อมมุ่งดูของชนิดนั้นก่อนแล้วจึงดูเครื่องหมายการค้าต่อไปในภายหลัง ตลอดจนศาลต้องดูเจตนาของผู้ผลิตสินค้าซึ่งใช้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ ด้วยดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิใช้คำว่า “แวร์” ซึ่งเป็นคำสามัญแปลว่า ภาชนะ และคำว่า “ซุปเปอร์” เป็นคำที่แพร่หลายคุ้นหูคุ้นตาประชาชนยิ่งกว่าคำว่า “ทัพเพอร์” นั้น เห็นว่า ศาลฎีกามิได้เอาคำว่าซุปเปอร์แวร์คำเดียวมาวินิจฉัยว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น และที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ถูกจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า การที่โจทก์มาแสวงหาความเป็นธรรมจากศาลตามทำนองคลองธรรม จะว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอย่างไรได้ ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนในเรื่องค่าเสียหาย เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ก็มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องจำนวนเงินค่าเสียหายประเด็นในเรื่องจำนวนเงินค่าเสียหาย จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
สรุปแล้วเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท”