คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1823/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้จัดการมรดกได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกมาเป็นของตนก่อนถูกฟ้องคดีถึง 7 ปี เศษแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดก หาใช่การจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วได้มีการแบ่งมรดกให้แก่ทายาทแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าผู้จัดการมรดกได้ครอบครองทรัพย์มรดกทั้งหมดไว้แทนทายาทการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันตามส่วนสัดของทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทตามกฎหมาย เว้นแต่ทายาทจะตกลงยินยอมกันการที่ผู้จัดการทรัพย์มรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนทั้งหมด และภายหลังโอนยกให้โดยเสน่หาแก่บุตรของผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่ง โดยไม่ยอมแบ่งปันแก่บุตรต่างบิดาซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก ทั้งที่ผู้จัดการมรดกทราบดีว่าเจ้ามรดกมีบุตรกี่คนแสดงให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ จึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคแรก จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แม้จำเลยที่ 2 ได้ให้การไว้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่ในชั้นชี้สองสถานศาลมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทจึงถือว่าจำเลยที่ 2 สละประเด็นข้อต่อสู้ดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้นอีกทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1ได้ครอบครองที่ดินมรดกของนางเจียม รวม 5 แปลง แต่จำเลยที่ 1มิได้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ไม่จัดทำบัญชีทรัพย์ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท และยักยอกทรัพย์มรดกโดยจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกบางแปลงเป็นของจำเลยที่ 1 และโอนที่ดินมรดกบางแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาอันเป็นการไม่ชอบ ทำให้โจทก์และทายาทอื่นได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดิน ให้กำจัดจำเลยทั้งสองมิให้รับมรดกส่วนของนางเจียมเจ้ามรดกทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การว่า ทรัพย์สินตามที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด จำเลยที่ 1 ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2โจทก์รู้เห็นยินยอมแต่ก็ไม่ได้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนฟ้องเคลือบคลุมและขาดอายุความจำเลยที่ 2 รับโอนโดยชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางเจียม หมัดนุรักษ์ ที่จำเลยทั้งสองได้กระทำในวันที่ 1 กรกฎาคม, 4 กันยายน พ.ศ. 2523 และวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2530 เสียสำหรับคำขออื่นให้ยก ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำจัดมิให้จำเลยที่ 1ได้รับมรดกส่วนของนางเจียม หมัดนุรักษ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์800 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์เป็นบุตรของนางเจียม กับนายหนับ มีพี่น้องรวม4 คน ต่อมานายหนับถึงแก่ความตาย นางเจียมได้จำเลยที่ 1มีบุตรด้วยกันอีก 4 คน จำเลยที่ 2 เป็นบุตรคนหนึ่งของนางเจียมที่เกิดกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นพี่น้องต่างบิดาแต่ร่วมมารดาเดียวกันกับโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2521 นางเจียมถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเจียมตามคำสั่งศาลครั้นวันที่ 1 กรกฎาคม 2523 และวันที่ 4 กันยายน 2523 จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4538 และเลขที่ 1167 เป็นของตนตามลำดับซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมีชื่อนางเจียมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2530จำเลยที่ 1 ได้โอนยกให้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ และจำเลยที่ 1 พึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกส่วนของนางเจียมหรือไม่ สำหรับปัญหาแรกจำเลยทั้งสองฎีกาว่าอายุความของคดีนี้ชอบที่จะถือเอาอายุความเดียวกับการฟ้องคดีเรื่องการแบ่งมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มิใช่อายุความในการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733นั้น เห็นว่าตามคำให้การของจำเลยทั้งสองได้ยกอายุความทั้ง 2 กรณีดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4538 จำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม 2523 และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1167 จำเลยที่ 1โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของตนตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2523 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีถึง 7 ปีเศษ แล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเจียม หาใช่การจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ คดีไม่ปรากฏว่า หลังจากศาลตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ได้มีการแบ่งมรดกให้แก่ทายาทนางเจียมแต่อย่างใด จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ครอบครองทรัพย์มรดกทั้งหมดไว้แทนทายาท การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เช่นกัน ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อมาที่ว่า จำเลยที่ 1 พึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกส่วนของนางเจียมหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่ากรรมสิทธิ์ของที่ดินทั้งสองแปลงส่วนใหญ่เป็นของจำเลยที่ 1 เพราะเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางเจียม ทรัพย์มรดกนอกจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้วยังมีที่ดินอื่นอีก 4 แปลง ซึ่งพอจะแบ่งให้โจทก์ได้เท่าเทียมกัน และจำเลยที่ 1 ก็มีเจตนาจะแบ่งให้แก่ทายาททุกคน แต่โจทก์ฟ้องคดีเสียก่อนนั้น เห็นว่า หน้าที่ของผู้จัดการมรดก จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทตามกฎหมายดังนั้นแม้ผู้ตายจะมีทรัพย์มรดกอื่นนอกจากที่ดินพิพาท ก็ต้องจัดการแบ่งปันตามส่วนสัดของทรัพย์มรดกเหล่านั้น เว้นแต่ทายาทจะตกลงยินยอมกัน การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนทั้งหมดและภายหลังโอนยกให้โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของตนโดยไม่ยอมแบ่งปันแก่บุตรต่างบิดาของเจ้ามรดก ทั้ง ๆ ที่ตนเป็นสามีเจ้ามรดก ย่อมทราบดีว่าเจ้ามรดกมีบุตรกี่คน เฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 อาศัยการเป็นผู้จัดการมรดกดำเนินการดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้จึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของนางเจียมเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ให้กำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกในส่วนดังกล่าวจึงชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองอีกข้อหนึ่งที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมจำเลยที่ 1ไม่ได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แม้จำเลยที่ 2 จะให้การไว้ในคำให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่า นางเจียมมารดาโจทก์มีอาชีพและรายได้อย่างไรได้ที่ดินพิพาทมาอย่างไรแต่ในชั้นชี้สองสถานศาลมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทจึงถือว่าจำเลยที่ 2 สละประเด็นข้อต่อสู้ดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น อีกทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share