คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำร้องของจำเลยไม่เพียงแต่อ้างว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ราคาต่ำอย่างเดียว แต่ยังได้บรรยายถึงการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้องด้วย เนื่องจากได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานฝ่ายประเมินราคาทรัพย์สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีและราคาประเมินในช่วงเวลาที่มีการขายทรัพย์นั้นมาก ถือได้ว่าคำร้องของจำเลยได้คัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้รับความเสียหายแล้ว การที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงการใช้ดุลพินิจในการดำเนินการขายทอดตลาดว่าเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ มิใช่ว่าถ้าไม่มีกฎหมายห้ามแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะตกลงขายเสนอไป หากได้กระทำไปเป็นที่เสียหายแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอย่างเห็นได้ชัดก็อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบได้ การขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในบรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 4 ส่วนที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเพื่อให้ได้ราคาสูงที่สุดแก่เจ้าของทรัพย์ที่ขายทอดตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานของศาลจะต้องมีหน้าที่ระวังผลประโยชน์แก่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีให้มากที่สุด จึงจะถือได้ว่าปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ได้ความว่าที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่ 132 ตารางวา มีราคาประเมินที่กรมที่ดินกำหนดไว้เป็นเงิน 6,600,000 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้รับทราบราคาประเมินของกรมที่ดินดังกล่าวก่อนที่จะขายทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ดังนี้การใช้ดุลพินิจในการตกลงขายทรัพย์พิพาทซึ่งมีทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในราคา 1,900,000 บาท นั้นต่ำกว่าราคาประเมินเป็นอันมาก นอกจากนี้ในการดำเนินการขายทอดตลาดครั้ง>แรกซึ่งมีผู้เสนอราคาสูงสุดถึง 2,800,000 บาทเจ้าพนักงานบังคับยังไม่ขายอ้างว่าราคาต่ำไป เห็นได้ชัดว่าจำเลยย่อมได้รับความเสียหายเป็นการดำเนินการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนอง ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสี่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมความโดยจำเลยทั้งสี่ยอมร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน 1,453,146.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 1,362,325.47 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3767ตำบลพญาไท อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทุกคนขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระ ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3767พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 112 และ 116 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 6878ตำบลมักกะสัน (พญาไท) อำเภอพญาไทย (ดุสิต) กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 114 ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่การยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3767 ตำบลพญาไท อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานครเป็นการยึดซ้ำกับคดีอื่น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ประกาศขายทอดตลาดเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 6878 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่114 ซึ่งนายประสิทธิ์ ลิ้มวิไลรัตนา ประมูลได้ราคาสูงเป็นเงินจำนวน 1,900,000 บาท เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2534
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่นายประสิทธิ์ ลิ้มวิไลรัตนา ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะราคาที่ขายต่ำกว่าราคาประเมินและราคาในท้องตลาดมากขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว
โจทก์คัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
นายประสิทธิ์ ลิ้มวิไลรัตนา ผู้ซื้อทรัพย์คัดค้านว่า การขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดและสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ทั้งโจทก์มิได้คัดค้าน จำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี การขายทอดตลาดชอบด้วยระเบียบและกฎหมายทุกประการขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 6878 ตำบลมักกะสัน (พญาไท) อำเภอพญาไท (ดุสิต)กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 114 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยที่ 3 และที่ 4 บรรยายถึงลักษณะที่ตั้งของที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายโดยกล่าวว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตั้งอยู่ย่านชุมชนใกล้แหล่งธุรกิจการค้า มีสาธารณูปโภคครบครันการคมนาคมสะดวกรถยนต์เข้าถึง และเมื่อเดือนมีนาคม 2534 เจ้าพนักงานฝ่ายประเมินราคาทรัพย์ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี ได้ประเมินราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 6878 ตำบลมักาะสัน (พญาไท) อำเภอพญาไท (ดุสิต)กรุงเทพมหานครโดยวิธีถัวเฉลี่ยจากราคาประเมินของกรมที่ดินซึ่งใช้บังคับขณะนั้น และราคาซื้อขายกันเป็นราคาที่ดิน 4,620,000 บาทส่วนสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 114 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน808,500 บาท และต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2534(ก่อนที่จะดำเนินการขายครั้งที่ 4 เป็นเวลา 7 วัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 แจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทราบว่ากรมที่ดินได้กำหนดราคาประเมินใหม่เป็นตารางวาละ 50,000 บาท ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงมีราคาประเมิน 6,600,000 บาท ซึ่งราคาตามท้องตลาดที่ซื้อขายกันตารางวาละ 80,000 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังได้บรรยายอีกด้วยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการประกาศขายมาแล้ว 4 ครั้งโดยในครั้งแรกมีผู้เสนอราคาสูงสุด 2,800,000 บาทแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าราคาต่ำจึงงดการขาย ในการประกาศขายครั้งที่ 2 ไม่มีผู้สนใจเสนอราคา ครั้งที่ 3 มีผู้เสนอราคา1,830,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าราคาต่ำกว่าราคาประเมินจึงงดการขายไว้อีกจนกระทั่งครั้งที่ 4 ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 1,900,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 คัดค้านการขาย ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นว่าการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายจะเห็นได้ว่าตามคำร้องมิใช่แต่เพียงอ้างว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ราคาต่ำแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้บรรยายถึงการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้องด้วยเนื่องจากได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานฝ่ายประเมินราคาทรัพย์สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีและราคาประเมินในช่วงเวลาที่มีการขายทรัพย์นั้นมาก ถือได้ว่าคำร้องของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้คัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้รับความเสียหายแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือ เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือขัดต่อระเบียบว่าด้วยการบังคับคดีหรือไม่นั้น การวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่ต้องพิเคราะห์ถึงการใช้ดุลพินิจในการดำเนินการขายทอดตลาดว่าเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ มิใช่ว่าถ้าไม่มีกฎหมายห้ามแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะตกลงขายเสมอไป หากได้กระทำไปเป็นที่เสียหายแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอย่างเห็นได้ชัดก็อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบได้ในเรื่องนี้หลักกฎหมายว่าด้วยการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในบรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 4ส่วนที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเพื่อให้ได้ราคาสูงที่สุดแก่เจ้าของทรัพย์ที่ขายทอดตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานของศาลจะต้องมีหน้าที่ระวังผลประโยชน์แก่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีให้มากที่สุดจึงจะถือได้ว่าปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการโดยชอบและโดยเปิดเผย เพราะราคาที่ขายเป็นราคาที่สูงกว่าราคาประเมินขณะที่ทำการยึดนั้น เห็นว่า ราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเป็นราคาที่ได้ประเมินไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2524ก่อนที่จะได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรพัย์พิพาทประมาณ 10 ปี ในระยะเวลาดังกล่าวภาวะเศรษฐกิจย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมทั้งราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังจะเห็นได้ว่าตามเอกสารหมาย ร.6 ซึ่งสำนักงานวางทรัพย์กลางได้ประเมินราคาทรัพย์พิพาท เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2534อันเป็นเวลาหลังจากที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทครั้งแรกไปแล้วไม่นานทรัพย์พิพาทยังมีราคาประเมินสูงถึง 5,428,500 บาทนอกจากนี้ตามหนังสือรับรองการประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินตามเอกสารหมาย ร.7 และคำเบิกความของนายจเร กุลทนันท์ เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ยังได้เบิกความรับรองว่าเฉพาะที่ดินพิพาทราคาประเมินตารางวาละ 50,000 บาท และจากประสบการณ์การทำงานราคาที่ดินซึ่งผู้ซื้อผู้ขายตกลงกันเองซึ่งถือว่าเป็นราคาท้องตลาดจะมีราคาสูงกว่าราคาประเมินที่กรมที่ดินกำหนดไว้และเบิกความตอบคำถามของทนายผู้ซื้อทรัพย์ว่า เมื่อมีการกำหนดราคาประเมินโดยแบ่งที่ดินออกเป็นบล็อกโซนแล้วยังไม่เคยพบข้อผิดพลาด จะเห็นได้ว่าราคาประเมินเฉพาะที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่ 132 ตารางวา มีราคา6,600,000 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้รับทราบราคาประเมินของกรมที่ดินดังกล่าวก่อนที่จะขายทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์แสดงให้เห็นว่าการใช้ดุลพินิจในการตกลงขายทรัพย์พิพาทซึ่งมีทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในราคา 1,9000,000 บาท นั้น ต่ำกว่าราคาประเมินเป็นอันมาก นกจากนี้ในการดำเนินการขายทอดตลาดครั้งแรกซึ่งมีผู้เสนอราคาสูงสุดถึง 2,800,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ขายอ้างว่าราคาต่ำไป เหตุใดในช่วงระยะเวลาที่ห่างกันไม่มากนักจึงใช้ดุลพินิจขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาที่ต่ำกว่าครั้งแรกถึง 900,000 บาท ที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่า การขายทอดตลาดดำเนินการอย่างเปิดเผย จะนำราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดไปเปรียบเทียบกับราคาซื้อขายทั่ว ๆ ไปไม่ได้ เพราะผู้ซื้อทรัพย์จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ทั้งยังต้องเสี่ยงต่อการถูกรอนสิทธิอีกด้วยนั้น ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะถือว่าการขายทอดตลาดครั้งนี้เป็นไปโดยชอบ และเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4ย่อมได้รับความเสียหาย
พิพากษายืน

Share