แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำชี้ให้จำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 16 ตารางวา เมื่อรั้วที่จำเลยที่ 3ก่อสร้างตามที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 นำชี้รุกล้ำที่ดินของโจทก์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะอ้างว่าเป็นการกระทำเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย
โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 3 ก่อสร้างรั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์กรมธนารักษ์จำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าจึงมีคำสั่งให้ ว.ไปรังวัด พบว่าจำเลยที่ 3ก่อสร้างรั้วเกินเขตที่เช่าไปประมาณ 1.80 เมตร จึงให้จำเลยที่ 3 รื้อรั้วออกไปแล้วก่อสร้างใหม่ให้อยู่ในแนวเขตที่เช่า แต่โจทก์อ้างว่ารั้วที่ก่อสร้างใหม่ยังคงรุกล้ำที่ดินของโจทก์อยู่อีก จำเลยที่ 2 ได้ให้ ว.ไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งและได้มีหนังสือนัดให้ทนายโจทก์และจำเลยที่ 3 ไปร่วมตรวจสอบ ก็ไม่ปรากฏว่า รั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด มาปรากฏว่ารั้วรุกล้ำเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปตรวจสอบ การที่โจทก์กล่าวหาว่าก่อสร้างรั้วรุกล้ำแนวเขตที่ดินสืบเนื่องมาจากโฉนดที่ดินที่พิพาทเป็นโฉนดที่ดินแบบเก่า การโต้แย้งของกระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 และกรมธนารักษ์จำเลยที่ 2 ดังกล่าว จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ที่ดินของรัฐ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายโดยตรง จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้เช่าจะต้องยึดถือตามแนวเขตที่จำเลยที่ 2 นำชี้ หาใช่เป็นการกระทำโดยพลการไม่การก่อสร้างรั้วก็กระทำตามที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ยืนยันแนวเขตที่เช่า ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำการโดยสุจริต ไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เช่นกัน