คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มีกำหนดอายุความฟ้องร้อง 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามมาตรา 95(3)จำเลยกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัวไป วันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 พนักงานอัยการขอผัดฟ้อง โดยไม่ได้นำตัวจำเลยส่งศาล แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว เพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาลโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นฟ้องในวันที่ 2 ธันวาคม 2537จนกระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและวันสุดท้ายของอายุความ 10 ปี คือวันที่ 3 ธันวาคม 2537โจทก์ก็มิได้ตัวจำเลยมาส่งศาล จึงขาดอายุความฟ้องร้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่ จำเลย และนางสาวเพ็ญศรีเฉิดแสงจันทร์ เป็นบุตรของนางเอ้าสี แซ่ฉั่ว ขณะที่นางเอ้าสีเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ขายยาแผนปัจจุบันใบอนุญาตเลขที่ 462/2526 ผลิตยาแผนโบราณ ใบอนุญาตเลขที่ 124/2526และขายยาแผนโบราณ ใบอนุญาตเลขที่ 650/2526 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2527 นางเอ้าสีได้ถึงแก่กรรม จำเลยได้กระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ ก. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2527เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้ปลอมหนังสือยินยอมทั้งฉบับจำนวน 1 ฉบับ โดยจำเลยเป็นผู้เขียนลงลายมือชื่อและชื่อสกุลของโจทก์ทั้งสี่และนางสาวเพ็ญศรีลงในช่องลงลายมือชื่อยินยอมในหนังสือยินยอมดังกล่าว ซึ่งโจทก์ทั้งสี่และนางสาวเพ็ญศรีมิได้ลงลายมือชื่อยินยอมแต่อย่างใด เพื่อนำไปใช้ในการขออนุญาตสิทธิขายยาแผนปัจจุบัน ผลิตยาแผนโบราณ ขายยาแผนโบราณและขอต่อใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันประจำปี 2528 แทนนางเอ้าสีที่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาและเจ้าหน้าที่กองควบคุมอาหารและยากระทรวงสาธารณสุขและบุคคลอื่น เชื่อว่าหนังสือยินยอมดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่นางสาวเพ็ญศรีและผู้อื่นได้ ข. วันที่ 3 ธันวาคม 2527 เวลากลางวัน จำเลยได้นำหนังสือยินยอมดังกล่าวไปใช้อ้างและแสดงต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เจ้าหน้าที่กองควบคุมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอรับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ผลิตยาแผนโบราณ ขายยาแผนโบราณและขอต่อใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ประจำปี 2528 แทนนางเอ้าสีมารดาผู้ถึงแก่กรรมโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเอกสารที่ปลอมขึ้นโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ นางสาวเพ็ญศรีและผู้อื่น ทำให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เจ้าหน้าที่กองควบคุมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้จำเลยขายยาแผนปัจจุบัน ผลิตยาแผนโบราณ ขายยาแผนโบราณและต่อใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันประจำปี 2528 ได้จนถึงบัดนี้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 90
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ข้อหาปลอมเอกสารตามคำฟ้อง ข้อ 2(ก) โจทก์มิได้ฟ้องภายในอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) ยกฟ้องเฉพาะข้อหานี้ และนัดไต่สวนมูลฟ้องเฉพาะข้อหาใช้เอกสารปลอมตามฟ้องข้อ 2(ข) ต่อมาถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง (วันที่ 7 มีนาคม2538) ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527 จำเลยกระทำความผิดข้อหาฐานใช้เอกสารปลอม ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 โจทก์ทั้งสี่ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม วันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยส่งมอบให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนอนุญาตให้จำเลยประกันตัวไปวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โดยไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผัดฟ้องมีกำหนด 6 วัน วันที่ 2 ธันวาคม 2537 โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง วันที่7 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ทนายโจทก์ทั้งสี่ยอมรับต่อศาลชั้นต้นว่า ขณะนี้ (วันที่ 7 มีนาคม 2538)พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องจำเลย เนื่องจากจำเลยหลบหนีปัญหาข้อกฎหมายที่จะวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ทั้งสี่ในข้อหาความผิดฐานใช้เอกสารปลอมขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ข้อหาความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมีกำหนดอายุความฟ้องร้อง 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(3) ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี” เมื่อปรากฏว่าจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดข้อหาฐานใช้เอกสารปลอมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527 ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ แล้วส่งมอบจำเลยแก่พนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันนี้พนักงานสอบสวนอนุญาตให้จำเลยประกันตัวไป วันที่ 30 พฤศจิกายน2537 พนักงานอัยการขอผัดฟ้อง โดยไม่ได้นำตัวจำเลยส่งศาลแม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว เพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาล ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสี่จะยื่นฟ้องจำเลยในวันที่ 2ธันวาคม 2537 แต่โจทก์ทั้งสี่ก็ยังไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลจนกระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสี่ก็ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาล เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิด คือวันที่ 3 ธันวาคม 2527 วันสุดท้ายของอายุความ 10 ปี ก็คือวันที่ 3 ธันวาคม 2537 โจทก์ทั้งสี่ก็มิได้ตัวจำเลยมาส่งมอบแก่ศาล คดีโจทก์ทั้งสี่ในข้อหาความผิดฐานใช้เอกสารปลอมจึงขาดอายุความฟ้องร้อง ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share