แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทให้จำเลยนำสืบก่อนแล้วให้โจทก์สืบแก้ก่อนสืบพยานจำเลยก็อ้างเหตุว่าเนื่องจากจำเลยได้นำส่งหมายเรียกพยานเอกสารให้แก่ธนาคารที่จำเลยอ้างในคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าจะต้องนำเอกสารดังกล่าวมาสืบพยานต่อศาลโดยเข้าใจว่าเอกสารดังกล่าวได้ถูกธนาคารทำลายและจำเลยได้ปิดบัญชีแล้วซึ่งขัดต่อความเป็นจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าจะต้องนำหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่สามารถทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่และไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีซึ่งแม้จะอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมและนำสืบฟังได้ก็หาได้มีผลให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมแต่อย่างใดกรณีจึงไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องสืบพยานดังกล่าวนั้น จำเลยผิดสัญญาและค้างชำระค่าที่ดินและบ้านพิพาทจำนวนแก่โจทก์ตามฟ้องจำเลยจึงต้องชำระเงินส่วนนี้ให้โจทก์ส่วนคำขอของโจทก์ที่ว่าถ้าจำเลยไม่ชำระให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทคืนโจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆนั้นพอแปลได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาเมื่อกรณีเป็นสัญญาต่างตอบแทนและตามสัญญาซื้อขายก็ไม่ได้กำหนดว่าเงินที่จำเลยชำระแล้วให้ริบดังนั้นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2533 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 107516 พร้อมบ้านเลขที่ 1723/3 จากโจทก์ในราคา1,500,000 บาท จำเลยชำระเป็นเงินสด 120,000 บาท และออกเช็ครวม 2 ฉบับ ให้โจทก์ฉบับแรกจำนวนเงิน 880,000 บาท สั่งจ่ายวันที่ 6 พฤศจิกายน 2533 และฉบับที่สองจำนวนเงิน 400,000 บาทสั่งจ่ายวันที่ 20 เมษายน 2534 ตกลงกันว่า ถ้าผิดนัดจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์ โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบโฉนดที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยแล้ว จำเลยชำระราคาให้โจทก์เพียง 1,000,000 บาท ยังค้างชำระอยู่อีก 400,000 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่20 เมษายน 2534 ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 445,513 บาท แก่โจทก์และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาทนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยไม่ชำระให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 107516 พร้อมบ้านเลขที่ 1723/3คืนโจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าจำเลยไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและชำระราคารวมทั้งออกเช็คให้โจทก์ตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง โจทก์มอบโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจให้จำเลย แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจมิได้กรอกข้อความเจ้าพนักงานที่ดินจึงปฏิเสธการจดทะเบียน จำเลยติดต่อโจทก์โจทก์ตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยในวันที่14 พฤศจิกายน 2533 ประมาณวันที่ 7 ถึง 10 พฤศจิกายน 2533ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระราคาตามเช็คฉบับแรกสามีโจทก์ได้มาขอรับเงินสดจำนวน 880,000 บาท จากจำเลยและตกลงให้จำเลยชำระราคาส่วนที่เหลือจำนวน 400,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งจำเลยได้ชำระราคาส่วนที่เหลือดังกล่าวให้โจทก์ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 ประมาณวันที่7 ถึง 10 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระราคาตามเช็คฉบับแรกสามีโจทก์ได้มาขอรับเงินสดจำนวน 880,000 บาท จากจำเลยและตกลงให้จำเลยชำระราคาส่วนที่เหลือราคา 400,000 บาทในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งจำเลยได้ชำระราคาส่วนที่เหลือดังกล่าวให้โจทก์ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินครบถ้วนแล้ว โดยระบุในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในราคา500,000 บาท ตามราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน แต่โจทก์มิได้คืนเช็คทั้งสองฉบับให้จำเลย โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยให้ชำระราคาส่วนที่เหลือ โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
หลังจากศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความเสร็จแต่ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาจำเลยยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นเห็นว่า กรณีไม่มีเหตุสมควรและไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานจำเลยที่ระบุเพิ่มเติมมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 20 เมษายน 2534แก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 45,513 บาทถ้าไม่ชำระให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 107516พร้อมบ้านเลขที่ 1723/3 คืนโจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้นถ้าไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เรียกเก็บเกินมาจำนวน 687.50 บาทให้คืนแก่จำเลย
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่า จำเลยทำสัญญาซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากโจทก์ในราคา1,400,000 บาท ชำระเงินให้โจทก์ในวันทำสัญญา 120,000 บาทส่วนที่เหลือจำเลยออกเช็คล่วงหน้าให้โจทก์ไว้ 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินจำนวน 880,000 บาท และ 400,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาโจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยและได้รับเงินตามเช็คจำนวน 880,000 บาท จากจำเลยแล้วปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยได้ชำระเงินจำนวน400,000 บาท ตามเช็คฉบับที่สองตามเอกสารหมาย ล.1 ให้โจทก์แล้วหรือไม่ และที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมตามคำร้องลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่นั้นชอบหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาในประการหลังนี้ก่อน และเห็นว่า เป็นความจริงดังที่โจทก์ฎีกาว่าศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทให้จำเลยนำสืบก่อนแล้วให้โจทก์สืบแก้ ก่อนสืบพยานจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยาน 2 ครั้งอ้างบัญชีกระแสรายวันของจำเลยและสมุห์บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด สาขาถนนศรีนครินทร์ และขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกบัญชีกระแสรายวันไว้แล้ว แต่ต่อมาจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานดังกล่าวเสียเอง เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 ขอระบุพยานเพิ่มเติมอ้างบัญชีกระแสรายวันของจำเลยและสมุห์บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาถนนศรีนครินทร์ ที่จำเลยได้เคยอ้าง แต่ไม่นำพยานมาสืบซึ่งเป็นความประสงค์ของจำเลยเองที่จะสืบพยานเพียงเท่านั้น จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่ ทั้งคำให้การของจำเลยก็ยกข้อต่อสู้ว่านายวิเชียร วีระศิลป์เลิศ สามีโจทก์ได้นำเช็คฉบับแรกซึ่งสั่งจ่ายเงินจำนวน 880,000 บาท มาแลกเงินสดไปจากจำเลยแล้ว โจทก์ตกลงว่าจะไม่นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ประกอบกับตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536จำเลยก็อ้างเหตุว่า เนื่องจากจำเลยได้นำส่งหมายเรียกพยานเอกสารให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาถนนศรีนครินทร์เพื่อเรียกบัญชีกระแสรายวันของจำเลยมาแสดงต่อศาลยืนยัน การที่โจทก์มิได้นำเช็คในคดีนี้ไปเรียกเก็บเงินแต่เอกสารดังกล่าวยังมิได้ส่งมาดังนั้น ที่จำเลยอ้างในคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 ว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าจะต้องนำเอกสารดังกล่าวมาสืบพยานต่อศาลโดยเข้าใจว่าเอกสารดังกล่าวได้ถูกธนาคารทำลายและจำเลยได้ปิดบัญชีแล้วจึงขัดความเป็นจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าจะต้องนำหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตน หรือไม่สามารถทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่ นอกจากนี้โจทก์ก็ยอมรับว่าได้รับเงินตามเช็คฉบับจำนวนเงิน 880,000 บาท แล้วมิได้ฟ้องเรียกเงินตามเช็คฉบับดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรงในคดี แม้จะอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมและนำสืบฟังได้ว่าโจทก์มิได้นำเช็คฉบับนี้ไปเรียกเก็บเงินก็หาใช่ข้อพิสูจน์ที่จะฟังเลยไปถึงว่าโจทก์ได้รับเงินตามเช็คฉบับ 400,000 บาท แล้วด้วย จึงหาได้มีผลให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ากรณีมีเหตุจำเป็นจะต้องสืบพยานดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยชำระราคาที่ดินและบ้านพิพาทจำนวน 400,000 บาท ให้โจทก์แล้วหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ และเห็นว่าจำเลยก็ยอมรับว่าหลังทำสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.2 แล้ว โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง ๆ ที่จำเลยชำระเงินให้เพียง 120,000 บาท ส่วนที่เหลือได้จ่ายเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 2 ฉบับ โดยเช็คฉบับที่สองตามเอกสารหมาย ล.1 ลงวันที่ล่วงหน้าไปหลายเดือน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไว้วางใจจำเลยเพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดากับสามีโจทก์ดังนั้นที่โจทก์ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยไปก่อนโดยที่ยังไม่ได้รับชำระราคาครบถ้วนเพียงแต่โจทก์ยึดถือเช็คเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งลงวันที่ล่วงหน้าไว้จึงเป็นไปได้ ที่จำเลยอ้างว่าได้ชำระเงินให้โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่คืนเช็คให้บอกว่าไม่ได้นำมา จำเลยก็หาได้ให้โจทก์ทำใบรับไว้แทนไม่ ทั้งที่จำเลยก็เป็นผู้มีความรู้เขียนสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.2 ด้วยตนเอง แม้หนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.5ข้อ 2 จะระบุว่าผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินรายนี้ก็เป็นเพียงแบบพิมพ์เพื่อใช้ในการจดทะเบียนเท่านั้น ทั้งราคาที่ดินตามที่จดทะเบียนซื้อขายก็แตกต่างจากราคาที่ตกลงซื้อขายกันจริงนายอดุลย์พยานจำเลยก็หาได้เบิกความว่ารู้เห็นในการชำระเงินไม่คงเบิกความเพียงว่าทราบว่าจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ครบถ้วนแล้วที่นายอดุลย์ให้จำเลยยืมเงินจำนวน 400,000 บาท ก็ไม่ได้ทำหลักฐานกันไว้ พยานจำเลยที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลยยังค้างชำระค่าที่ดินและบ้านพิพาทจำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์อยู่จริงตามฟ้อง จำเลยจึงต้องชำระเงินส่วนนี้ให้โจทก์ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ว่าถ้าจำเลยไม่ชำระให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทคืนโจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ นั้น พอแปลได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาเมื่อกรณีเป็นสัญญาต่างตอบแทน ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.2ก็ไม่ได้กำหนดว่าเงินที่จำเลยชำระแล้วให้ริบ ดังนั้น คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้จำเลย
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระราคาที่ดินและบ้านพิพาทส่วนที่ยังค้างชำระอยู่จำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 20 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 45,513 บาท ถ้าไม่ชำระให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 107516 พร้อมบ้านเลขที่ 1723/3 คืนโจทก์ ถ้าจำเลยไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย แล้วให้โจทก์คืนเงินจำนวน 1,000,000 บาทแก่จำเลย พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันได้รับโอนที่ดินคืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 5,000 บาท