แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำให้การของจำเลยที่ 4 ในข้อ 2 จำเลยที่ 4 ให้การลอย ๆ ไว้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 เนื่องจากทำขึ้นโดยขัดต่อระเบียบข้อบังคับของโจทก์เท่านั้น จึงเป็นคำให้การที่ไม่แสดงให้แจ้งชัดถึงเหตุแห่งการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยว่า ที่ ห. ทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดตามเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนหรือกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดกับโจทก์มีข้อตกลงว่า หากโจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จะชดใช้จนครบถ้วนพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี มีจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมา จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คธนาคารเอเซีย จำกัดสาขาสามแยก ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2528 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2528สั่งจ่ายเงิน 10,000 บาท และ 350,000 บาท ตามลำดับ มาขายแลกเปลี่ยนเงินสดกับโจทก์ โจทก์ได้นำเข้าบัญชีของโจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับข้อให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 388,249.31 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของเงินต้น 360,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อลดตั๋วเงิน สัญญาแลกเช็คเป็นเงินสด สัญญาค้ำประกันการแลกเช็คตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4, 5, 6, 7 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันจำเลย ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ไม่ใช่ลายมือกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นายนิพนธ์ โรจนโนภณดิษฐ์ ผู้รับมอบอำนาจ จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ การทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดไม่ได้มีการตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยขณะนั้นทางราชการยังไม่อนุญาตให้เรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จำเลยที่ 4 มีเจตนาทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ในวงเงิน 300,000 บาท เท่านั้น จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้นำเช็คพิพาทมาแลกเป็นเงินสดกับโจทก์เกินวงเวินที่จำเลยที่ 4ค้ำประกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน360,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินในเช็ค 10,000 บาท นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2528 และในต้นเงิน350,000 บาท นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจตทก์ จำนวน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ21 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดทวงถาม (วันที่ 3 เมษายน 2529)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งกันรับฟได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์มีนายวิเชษฐ์ กาญจนกิจ และนางสาวสว่าง มั่นคงเจริญ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2525 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดกับโจทก์โดยมีข้อตกลงว่า เช็คที่โจทก์รับแลกจากจำเลยที่ 1 เมื่อถึงกำหนดแล้วหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ จำเลยที่ 1 จะชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีให้แก่โจทก์ในการทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดดังกล่าว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คธนาคารเอเชียจำกัด สาขาสามแยกตามฟ้อง จำนวนสองฉบับ คือฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน2528 สั่งจ่ายเงินจำนวน 10,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน2528 สั่งจ่ายเงินจำนวน 350,000 บาท รวมเป็นเงิน 360,000 บาทมาแลกเงินสดกับโจทก์และได้รับเงินจากโจทก์ไปแล้ว เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารเอเซีย จำกัด สาขาสามแยก แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์จึงมอบให้ทนายความของโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยโจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 4 ในปัญหาว่านายหงชาด เอื้อจงประสิทธิ์ ลงชื่อในสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดตามเอกสารหมาย จ.4 ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 4 ในข้อ 2จำเลยที่ 4 ให้การลอย ๆ ไว้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ของโจทก์ เนื่องจากทำขึ้นโดยขัดต่อระเบียบข้อบังคับของโจทก์เท่านั้น จึงเป็นคำให้การทีไม่แสดงให้แจ้งชัด ถึงเหตุแห่งการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องไปวินิจฉัยในปัญหาว่า ที่นายหงชาดเอื้อจงประสิทธิ์ ทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดตามเอกสารหมาย จ.4ให้โจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนหรือกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ทั้งปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง…”
พิพากษายืน.