แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามระเบียบการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัยฯ หมวด 4 การประชุมปรึกษาและการรายงาน ข้อ 21 ถึง 24 มีข้อความเพียงแต่ให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ และผู้กระทำผิดควรได้รับโทษสถานใด เมื่อผู้ว่าการเห็นควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมก็ยังสามารถทำได้ มิได้มีข้อความในข้อใดระบุไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายอันแสดงให้เห็นว่าเมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นแล้วข้อเท็จจริงต้องยุติตามสำนวนการสอบสวน และเมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นควรรับโทษสถานใดแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโทษให้น้อยลงหรือเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งข้อความที่ว่า ให้คณะกรรมการสอบสวนรายงานการสอบสวนนั้นต่อผู้ว่าการเพื่อสั่งการโดยมิชักช้า คำว่าเพื่อสั่งการย่อมมีความหมายว่าให้ผู้ว่าการพิจารณาก่อนว่ามีความเห็นตามที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นหรือไม่ การพิจารณาดังกล่าวก็มิได้กำหนดไว้ว่าผู้ว่าการจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง การที่ผู้ว่าการจำเลยเกษียนสั่งอนุมัติการขยายเวลาการสอบสวนตามที่คณะกรรมการสอบสวนขอมาพร้อมกับส่งเรื่องไปให้รองผู้ว่าการ (บริหาร) พิจารณาดำเนินการต่อไป จำเลยโดยผู้ว่าการยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสนอการลงโทษโจทก์ เมื่อรองผู้ว่าการ (บริหาร) พิจารณาแล้วก็มอบเรื่องให้กองการเจ้าหน้าที่ไปพิจารณา ดังนั้น การที่ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่สรุปข้อเท็จจริงตามสำนวนการสอบสวนแล้วเห็นควรเสนอผู้ว่าการเพื่อมีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ ก็เป็นการกระทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มิได้เป็นการกระทำที่ผิดระเบียบของจำเลย คำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานเป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรมต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 516/2543 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2543 เรื่อง ลงโทษไล่พนักงานออกจากงาน ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและรับเงินเดือนในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าขณะไล่โจทก์ออกจากงาน ให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายเดือนละ 9,875 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2543 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 138,250 บาท แก่โจทก์ และค่าเสียหายในอัตราดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะมีคำสั่งรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นพนักงานจำเลย วันที่ 2 กันยายน 2542 จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ฐานทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเห็นควรลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 2 ขั้น ตามสำเนาภาพถ่ายรายงานผลการสอบสวนทางวินัยโจทก์เอกสารหมาย จ. 5 หรือ ล. 4 วันที่ 11 ตุลาคม 2543 จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานและศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามหลักฐานการสอบสวนทางวินัยโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนด้วยการเรียกรับเงินค่าติดตั้งประปาจำนวน 6,500 บาท และเรียกรับเงินค่าดันท่อลอดถนนรายละ 1,500 บาท จากผู้ขอใช้น้ำ 2 ราย โดยมิชอบจริง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีโทษถึงไล่ออก ตามสำเนาภาพถ่ายข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย ล. 1 หมวด 6 วินัย การรักษาวินัย การลงโทษและการอุทธรณ์การลงโทษข้อ 36 (5) ประกอบข้อ 37 (3) ดังนั้น การที่จำเลยพิจารณาผลการสอบสวนแล้วมีคำสั่งทางวินัยไล่โจทก์ออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่จึงชอบด้วยระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การที่นายวันชัย กู้ประเสริฐ ผู้ว่าการจำเลยได้เกษียนสั่งในรายงานผลการสอบสวนทางวินัยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 ว่าอนุมัติการขยายเวลาพร้อมส่งเรื่องให้รองผู้ว่าการ (บริหาร) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปเท่ากับว่าจำเลยได้ให้ความเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสนอให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 2 ขั้น ทำให้การสอบสวนทางวินัยโจทก์เป็นอันยุติตามนั้นแล้ว จำเลยจะกลับมาพิจารณาลงโทษโจทก์เป็นอย่างอื่นไม่ได้นั้น ศาลแรงงานกลางก็วินิจฉัยว่า การที่นายวันชัยผู้ว่าการจำเลยเกษียนสั่งเช่นนั้นแสดงว่าผู้ว่าการอนุมัติการขยายเวลาสอบสวนตามที่คณะกรรมการสอบสวนขอมาพร้อมกับส่งเรื่องไปให้รองผู้ว่าการ (บริหาร) พิจารณาดำเนินการต่อไป คือให้รองผู้ว่าการ (บริหาร) พิจารณาผลการสอบสวนตามระเบียบปฏิบัติแล้วเสนอผู้ว่าการจำเลยเพื่อดำเนินการต่อไป ต่อมาเมื่อพิจารณาแล้วจำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยชอบด้วยระเบียบของจำเลยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัย พ.ศ.2522 หมวด 4 การประชุมปรึกษาและการรายงานข้อ 21 ถึงข้อ 24 ดังนั้น ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยการไล่ออกจากงานเพราะโจทก์กระทำผิดวินัยร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่นายประมุข ชินประหัษฐ์ ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วตามสำนวนการสอบสวนซึ่งคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นให้ลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 2 ขั้น และผ่านความเห็นชอบแล้วมาทำความเห็นใหม่ เป็นการกระทำที่ผิดระเบียบจำเลยว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสอบสวนทางวินัย พ.ศ.2522 หมวด 4 การประชุมปรึกษาและการรายงานข้อ 21 ถึงข้อ 24 คำสั่งของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามระเบียบการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัย พ.ศ.2522 หมวด 4 การประชุมปรึกษาและการรายงานข้อ 21 ถึงข้อ 24 มีข้อความสรุปได้ว่า เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นลงแล้วให้คณะกรรมการสอบสวนประชุมปรึกษาเพื่อทำรายงานผลการสอบสวนเสนอผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ แสดงเหตุและผลในการกระทำผิดหรือไม่ได้กระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหา พร้อมทั้งเสนอความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างไรหรือไม่ โดยอาศัยพยานหลักฐานและเหตุผลอย่างไร หากได้กระทำผิดให้แสดงว่าผู้กระทำผิดได้กระทำผิดข้อบังคับระเบียบการประปาส่วนภูมิภาคข้อใด ฉบับใดและควรได้รับโทษสถานใด ในกรณีที่ผู้ว่าการเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทำรายงานการสอบสวนเสร็จแล้วให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอรายงานการสอบสวนนั้นต่อผู้ว่าการเพื่อสั่งการโดยมิชักช้า ถ้าผู้ว่าการเห็นควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมให้นำความในข้อ 22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามข้อความดังกล่าวเพียงแต่ให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นด้วยว่าผู้กระทำผิดควรได้รับโทษสถานใด เมื่อผู้ว่าการเห็นควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมก็ยังสามารถทำได้ มิได้มีข้อความในข้อใดระบุไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายอันแสดงให้เห็นว่าเมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นแล้ว ข้อเท็จจริงต้องยุติตามสำนวนการสอบสวน และเมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นควรรับโทษสถานใดแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโทษให้น้อยลงหรือเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งข้อความที่ว่า ให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอรายงานการสอบสวนนั้นต่อผู้ว่าการเพื่อสั่งการโดยมิชักช้า คำว่าเพื่อสั่งการย่อมมีความหมายว่า ให้ผู้ว่าการพิจารณาก่อนว่ามีความเห็นตามที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นหรือไม่ การพิจารณาดังกล่าวก็มิได้กำหนดไว้ว่า ผู้ว่าการจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง ดังนั้น การที่นายวันชัย ผู้ว่าการจำเลยเกษียนสั่งดังกล่าวก็เป็นการอนุมัติการขยายเวลาการสอบสวนตามที่คณะกรรมการสอบสวนขอมาพร้อมกับส่งเรื่องไปให้รองผู้ว่าการ (บริหาร) พิจารณาดำเนินการต่อไป จำเลยโดยผู้ว่าการยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสนอการลงโทษโจทก์ เมื่อรองผู้ว่าการ (บริหาร) พิจารณาแล้วก็มอบเรื่องให้กองการเจ้าหน้าที่ไปพิจารณา ดังนั้น การที่นายประมุข ชินประหัษฐ์ ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่สรุปข้อเท็จจริงตามสำนวนการสอบสวนแล้วเห็นควรเสนอผู้ว่าการเพื่อมีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากงาน เนื่องจากโจทก์ทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ ก็เป็นการกระทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มิได้เป็นการกระทำที่ผิดระเบียบของจำเลย คำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานเป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรมต่อโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน