คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดหลักเกณฑ์การลาป่วยไว้ว่า พนักงานมีสิทธิลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างปีหนึ่งไม่เกิน30 วันทำงาน ถ้าพนักงานป่วย 3 วันทำงานติดต่อกัน พนักงานจะต้องแสดงใบรับรองจากแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ถ้าไม่อาจทำใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งได้ให้ชี้แจงเหตุผลให้ทราบการลาป่วยต้องขอลาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ หรือระหว่างการเจ็บป่วยต้องแจ้งให้ทางจำเลยทราบ ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องกระทำภายใน 4 ชั่วโมงแรกของเวลาเริ่มปฏิบัติงานหรือแจ้งให้ทราบในวันแรกที่มาทำงานตามปกติ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่มาทำงาน4 วัน ติดต่อกัน คือวันที่ 131415 และ 18 กันยายน 2532 โจทก์ยื่นใบลาป่วย 4 วันตามข้อบังคับของจำเลย โดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดง แพทย์ลงความเห็นว่าโจทก์ป่วยในวันที่ 1516 และ 18 กันยายน2532 หาได้รับรองว่าโจทก์ป่วยในวันที่ 1314 กันยายน 2533ด้วยไม่ การที่โจทก์ยื่นใบลาป่วยในวันที่ 1314 ด้วย จึงไม่ตรงต่อความจริง และไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลย จำเลยมีสิทธิปฏิเสธการลาป่วยที่ไม่ถูกต้องได้โดยไม่จำเป็นต้องให้โจทก์ทำใบรับรองแพทย์มาแสดงอีก หาเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 12 ไม่เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ในการยื่นใบลาป่วย การที่โจทก์ลาป่วยเพียง 2 วัน โดยโจทก์ไม่ได้ยื่นใบลาในวันลาและไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบในระหว่างการลา เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้ป่วยจริง การฝ่าฝืนของโจทก์ดังกล่าวคงมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเท่านั้นไม่อาจถือว่าโจทก์ขาดงานด้วยการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างในวันดังกล่าวแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อวันที่13, 14, 15 และ 18 กันยายน 2532 กับวันที่ 2 และ 3 ตุลาคม 2532โจทก์ป่วยและขอลาป่วยถูกต้องตามระเบียบแล้ว แต่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ 13, 14 กันยายน 2532 และวันที่ 2, 3 ตุลาคม 2532 ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ลาป่วยโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงถือว่าโจทก์ขาดงานและละทิ้งหน้าที่การงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ จึงต้องถือเอาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2.2 หลักเกณฑ์การลาป่วยเป็นหลักในการวินิจฉัยว่าโจทก์ลาป่วยถูกต้องตามระเบียบและมีสิทธิได้รับจ้างหรือไม่ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ดังกล่าวกำหนดไว้ดังนี้
” 2.2.1 พนักงานมีสิทธิลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างปีหนึ่งไม่เกิน30 วันทำงาน
2.2.2 ถ้าพนักงานป่วย 3 วันทำงานติดต่อกัน พนักงานจะต้องแสดงใบรับรองจากแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ถ้าไม่อาจทำใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งได้ให้ชี้แจงเหตุผลให้ทราบ
2.2.3 วันลาป่วยเป็นสิทธิในการลาของพนักงานซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อพนักงานเจ็บป่วย บาดเจ็บด้วยเหตุอื่นจนทำให้ไม่สามารถทำงานได้โดยไม่ทราบล่วงหน้า การลาป่วยต้องขอลาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ หรือระหว่างการเจ็บป่วยต้องแจ้งให้ทางบริษัทราบซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องกระทำภายใน 4 ชั่วโมงแรกของเวลาเริ่มปฏิบัติงาน หรือแจ้งให้ทราบในวันแรกที่มาทำงานตามปกติในวันแรกที่ต้องหยุดงาน การขอลาป่วยนั้อาจทำได้เช่นเดียวกับการลากิจในกรณีฉุกเฉิน”
สำหรับการลาป่วยของโจทก์ในวันที่ 13, 14 กันยายน 2532 นั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไม่มาทำงานสี่วันติดต่อกัน คือวันที่13, 14, 15 และ 18 กันยายน 2532 โจทก์ได้ยื่นใบลาป่วยสี่วันตามข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 โดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดงสองฉบับ คือเอกสารหมาย จ.1 จ.2 ใบรับรองแพทย์ตามเอกสารหมาย จ.1ลงความเห็นว่า โจทก์เป็นไข้หวัดสมควรให้หยุดพักรักษาตัว 2 วันคือวันที่ 15 และ 16 กันยายน 2532 ใบรับรองแพทย์ตามเอกสารหมาย จ.2ลงความเห็นว่า สมควรได้รับการพักผ่อน 1 วัน ในวันที่ 18 กันยายน2532 ใบรับรองแพทย์ทั้งสองฉบับหาได้รับรองว่าโจทก์ป่วยในวันที่13, 14 กันยายน 2532 ด้วยไม่ การที่โจทก์ยื่นใบลาป่วยในวันที่13, 14 ดังกล่าวด้วย จึงไม่ตรงต่อความเป็นจริงและไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การลาป่วยของโจทก์ในวันที่ 13, 14 กันยายน 2532 ไม่ถือเป็นการลาป่วย จึงหาเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 12 ไม่ เพราะบทบัญญัติตามข้อ 12 เป็นหลักเกณฑ์ในการยื่นใบลาป่วย แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ลาป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดงตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว แต่ใบลาป่วยของโจทก์ไม่ถูกต้องตรงกับใบรับรองแพทย์ จำเลยจึงมีสิทธิปฏิเสธการลาป่วยที่ไม่ถูกต้องของโจทก์ได้ ไม่จำเป็นต้องให้โจทก์นำใบรับรองแพทย์มาแสดงอีกตามที่โจทก์อุทธรณ์
ส่วนการลาป่วยของโจทก์ในวันที่ 2, 3 ตุลาคม 2532 นั้นแม้ฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นใบลาในวันลาและไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบในระหว่างการลาเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2.2.3 และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 แต่จำเลยก็หาได้ให้การต่อสู้ไม่ว่าโจทก์ไม่ได้ป่วยจริงในระหว่างวันที่ 2, 3 ตุลาคม 2532 การฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวจึงคงมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์การลาป่วยเท่านั้น ซึ่งจำเลยอาจจะลงโทษในความผิดฐานนั้นได้ แต่ไม่อาจจะถือได้ว่าโจทก์ขาดงานด้วยการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร การที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยถือว่าโจทก์ขาดงาน จึงไม่ถูกต้อง จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างสองวัน คือวันที่ 2, 3 ตุลาคม 2532 เป็นเงิน 282 บาท แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 282 บาทแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share