คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2554

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องนับถัดจากวันที่ก่อสร้างดัดแปลงเสร็จลง มิใช่เป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รื้ออาคาร ส่วนเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารที่ฝ่าฝืนยังคงอยู่ เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชยกรรมขายอาหารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และถือเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น จึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี อายุความฟ้องร้องมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) เมื่อการก่อสร้างดัดแปลงอาคารได้เสร็จลงก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จึงเกินกว่า 5 ปี ล่วงเลยกำหนดเวลาฟ้องร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
การกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 66 ทวิ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 ก่อนกล่าวคือกรณีแรกอาคารที่จำเลยก่อสร้างนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 กรณีที่สองอาคารที่จำเลยก่อสร้างไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงที่ว่าอาคารก่อสร้างดัดแปลงโดยผิดกฎหมายสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องบรรยายมาในฟ้อง เพราะเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยทั้งสองกับพวกอีกสองคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารชั้นเดียวขนาดกว้าง 2.50 เมตร ยาว 32 เมตร รวม 80 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชยกรรมขายอาหารและต่อเติมอาคารเป็นอาคารเก็บของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 12 เมตร รวม 36 ตารางเมตร ซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2543 เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบการกระทำความผิดดังกล่าว จึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารภายใน 30 วัน จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2543 เมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนอาคารจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 32, 40, 42, 47, 65, 66 ทวิ, 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และปรับตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองกับพวกจะรื้อถอนอาคารและปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง, 66 ทวิ, 70 ประกอบมาตรา 32, 40, 42 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ปรับคนละ 60,000 บาท ฐานฝ่าฝืนไม่รื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ปรับคนละ 60,000 บาท รวมปรับคนละ 120,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้ปรับคนละ 60,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้ปรับจำเลยทั้งสองอีกคนละ 2,000 บาทต่อวัน นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหนึ่งในกรรมการ จำเลยทั้งสองร่วมกันก่อสร้างอาคารชั้นเดียวขนาดกว้าง 2.50 เมตร ยาว 32 เมตร รวม 80 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชยกรรมขายอาหาร และร่วมกันต่อเติมอาคารเป็นอาคารเก็บของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 12 เมตร รวม 36 ตารางเมตร ซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และการก่อสร้างดัดแปลงอาคารดังกล่าวได้เสร็จลงก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2543 เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบการกระทำความผิดดังกล่าว จึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนภายใน 30 วัน จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2543 แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ความผิดข้อหาดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร การกระทำอันจะเกิดเป็นความผิดขึ้นจึงย่อมนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันปลูกสร้างอาคารเสร็จอายุความฟ้องร้องย่อมนับถัดจากวันที่ก่อสร้างดัดแปลงเสร็จลงหาใช่เป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รื้ออาคารดังที่โจทก์อ้างไม่ ข้ออ้างของโจทก์เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่งที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารที่ฝ่าฝืนยังคงอยู่ มิใช่กฎหมายมิอาจบังคับได้ดังที่โจทก์ฎีกา แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีอาญาซึ่งความผิดข้อหาดังกล่าวตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และถือเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมต้องตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น จึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี อายุความฟ้องร้องมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าการก่อสร้างดัดแปลงอาคารดังกล่าวได้เสร็จลงก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จึงเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี ล่วงเลยกำหนดเวลาฟ้องร้องดังกล่าว ฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความ
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543 เจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำความผิดจึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนภายใน 30 วัน จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2543 เมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนอาคาร จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 และ 42 มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ ซึ่งความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด…” และมาตรา 42 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องหรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงานหรือดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน…” ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่จะเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 66 ทวิ จะต้องเป็นการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตามบทบัญญัติมาตรา 42 ก่อนกล่าวคือ กรณีแรกอาคารที่จำเลยก่อสร้างนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 กรณีที่สองอาคารที่จำเลยก่อสร้างไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม เช่นนี้ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงที่ว่า อาคารก่อสร้างดัดแปลงโดยผิดกฎหมายสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องบรรยายมาในฟ้อง เพราะเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญบัติไว้ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฟ้องโจทก์ในข้อหานี้จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share