คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18056/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ บัญญัติให้อำนาจอธิบดีเรียกประกันจากเจ้าของหรือผู้ปกครองคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อประกันค่าภาษีอากรหรือค่าชดใช้อย่างอื่น ดังนั้น จำเลยจึงมีอำนาจเรียกให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บนทำข้อตกลงหรือสัญญาประกันตามบทบัญญัตินี้ได้ ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ผู้ให้สัญญาจะปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศของกรมศุลกากร บรรดาที่มีบังคับใช้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาประกันทัณฑ์บนนี้ หรือที่จะมีขึ้นใช้บังคับต่อไป ประกาศและคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่บังคับใช้อยู่แล้วจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บน มิได้เป็นผู้นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร แต่หากโจทก์เก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเกินกำหนดที่จำเลยอนุญาต จำเลยมีอำนาจเรียกเก็บค่าอากรเป็นของใช้ภายในประเทศจากโจทก์ โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้นำของเข้าทราบก่อนตามสัญญาประกันและทัณฑ์บน คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปได้ เพราะมิใช่เรียกเก็บจากโจทก์ในฐานะผู้นำเข้าหรือเจ้าของสินค้าแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 19,491,027.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 17,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องและขอให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลย 19,724,592 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ชำระเงิน 19,724,592 บาท แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ผิดสัญญาประกันและทัณฑ์บนคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป และโจทก์ต้องชำระค่าภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่เก็บรักษาไว้เนื่องจากเกินกำหนดเวลาหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 บัญญัติให้อำนาจอธิบดีเรียกประกันจากเจ้าของหรือผู้ปกครองคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ทำทัณฑ์บนและหรืออย่างอื่นจนเป็นที่พอใจ เพื่อประกันค่าภาษีอากรหรือค่าชดใช้อย่างอื่นซึ่งกรมศุลกากรอาจเรียกได้ตามกฎหมายหรือข้อตกลง ดังนั้น จำเลยจึงมีอำนาจเรียกให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บนทำข้อตกลงหรือสัญญาประกันตามบทบัญญัตินี้ได้ เมื่อสัญญาประกันและทัณฑ์บน คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2548 ระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ผู้ให้สัญญาจะปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศของกรมศุลกากร บรรดาที่มีบังคับใช้อยู่แล้ว ในขณะทำสัญญาประกันทัณฑ์บนนี้ หรือที่จะมีขึ้นใช้บังคับต่อไป ซึ่งจำเลยมีนายธนศักดิ์ นายสมชาติ นายวุฒิพงศ์ และนางแสงดาว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย เบิกความในทำนองเดียวกันได้ความว่า โจทก์รับฝากสินค้าของบริษัทปภามาศ จำกัด มูลค่าสินค้า 129,311,941.68 บาท ค่าภาษีอากรรวม 36,724,592 บาท ไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของโจทก์เกิน 2 ปี และเกินกำหนดที่จำเลยอนุญาตให้ขยายระยะเวลา จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ประกาศกรมศุลกากรที่ 4/2547 และคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 1/2547 จำเลยจึงมีอำนาจเรียกเก็บภาษีอากรจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ เมื่อพิจารณาประกาศกรมศุลกากร ที่ 4/2547 เรื่อง ระเบียบเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งให้ยกเลิกประกาศกรมศุลกากรที่ 54/2546 ลงวันที่ 22 กันยายน 2546 และให้ใช้ระเบียบเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ดังต่อไปนี้ … ข้อ 3 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้ง ข้อย่อย 3.3 สามารถเก็บของได้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันนำเข้า หากเกินกำหนดดังกล่าว กรมศุลกากรมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ปกครองคลังฯ ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรหรือเรียกเก็บค่าอากรเป็นของใช้ภายในประเทศ หรือดำเนินการอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควร โดยมิพักต้องแจ้งให้ผู้นำของเข้าทราบก่อน ข้อ 7 ผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้ง นอกจากจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและสัญญาประกันและทัณฑ์บนโดยเคร่งครัดแล้ว จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และประกาศกรมศุลกากรไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ คำสั่ง และประกาศกรมศุลกากรที่ใช้บังคับอยู่แล้วหรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปในภายหน้า ซึ่งคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 1/2547 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ.2544 ภาค 5 หมวด 2 บทที่ 2 ว่าด้วยคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งมีคำสั่งให้ยกเลิกความในภาค 5 หมวด 2 บทที่ 02 ข้อ 01 – 28 แห่งประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ.2544 เสียทั้งสิ้น และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน บทที่ 2 คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ข้อ 5 02 02 03 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินงานคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ข้อ 7 ของที่นำเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสามารถเก็บได้ 2 ปี นับแต่วันนำเข้า ข้อ 5 02 02 25 ของอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเกิน 2 ปี ถ้าของใดอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปครบ 2 ปี ให้ผู้อำนวยการสำนักหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้นำของเข้าและ/หรือเจ้าของคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ ดำเนินการชำระภาษีอากรให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือ หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้ผู้อำนวยการสำนักหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจสั่งไม่ไห้ผู้นำเข้ารายนั้นนำของเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้นๆ ตลอดจนคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปอื่นอีกต่อไป ถ้ามีของใดเก็บอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปจนครบ 2 ปีแล้ว หากยังมิได้ชำระภาษีอากรให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน ให้ผู้อำนวยการสำนักหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจ สั่งให้งดการนำของเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้นได้ ดังนี้ ประกาศกรมศุลกากร ที่ 4/2547 เรื่อง ระเบียบเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 13 มกราคม 2547 และคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 1/2547 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ.2544 ที่บังคับใช้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปพิพาท จึงเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันและทัณฑ์บน คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปพิพาทด้วยจึงมีผลใช้บังคับได้ตามข้อตกลง ข้อ 1 แห่งสัญญาดังกล่าวที่โจทก์ผู้ให้สัญญายินยอมที่จะปฏิบัติตาม ดังนั้น แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนมิได้เป็นผู้นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร แต่หากโจทก์เก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเกินกำหนดที่จำเลยอนุญาต จำเลยมีอำนาจเรียกเก็บค่าอากรเป็นของใช้ภายในประเทศจากโจทก์ โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้นำของเข้าทราบก่อน โดยให้ผู้อำนวยการสำนักหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจสั่งให้โจทก์ดำเนินการชำระภาษีอากรให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือ ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า จำเลยอนุมัติให้บริษัทผู้นำเข้าขยายระยะเวลาฝากเก็บสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนของโจทก์และผ่อนผันการชำระค่าภาษีออกไปจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2548 แผ่นที่ 25 แต่เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่ชำระค่าฝากเก็บรักษาสินค้าให้แก่โจทก์ วันที่ 14 กรกฎาคม 2547 โจทก์จึงฟ้องบริษัทดังกล่าวให้ชำระค่าฝากเก็บรักษาสินค้า วันที่ 18 ตุลาคม 2547 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้บริษัทดังกล่าวชำระเงินค่าฝากเก็บสินค้าแก่โจทก์ หากบริษัทดังกล่าวไม่ชำระเงินและนำตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บนของโจทก์ภายในกำหนด 1 เดือน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้นำตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าและสินค้าของบริษัทดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดให้หักชำระค่าฝากเก็บแก่โจทก์ หากยังมีเงินเหลือให้ส่งคืนแก่บริษัทดังกล่าว วันที่ 22 มีนาคม 2548 ศาลออกหมายบังคับคดี วันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีออกประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี เรื่อง การยึดทรัพย์ คดีอยู่ในระหว่างการดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้อนุมัติให้บริษัทผู้นำเข้าขยายระยะเวลาฝากเก็บสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนของโจทก์ หลังวันที่ 1 เมษายน 2548 ต่อไปอีก เมื่อสินค้ายังอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของโจทก์หลังวันดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่มีการเก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปของโจทก์เกินกำหนด จำเลยจึงมีอำนาจเรียกเก็บค่าอากรเป็นของใช้ภายในประเทศจากโจทก์ตามสัญญาประกันและทัณฑ์บน คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ได้ มิใช่เรียกเก็บจากโจทก์ในฐานะผู้นำเข้าหรือเจ้าของสินค้าแต่อย่างใด
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share