คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 180/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องถอนตัวจากการเป็นจำเลยร่วมนั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากผู้ร้องไม่เห็นพ้อง ก็มีสิทธิเพียงแต่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีแล้วเท่านั้น ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226
เมื่อฝ่ายจำเลยได้โต้แย้งว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในเรื่องนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาให้เป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน.

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นคอมประโดว์ของธนาคารเกษตร จำกัด สาขาตรัง ได้ทำสัญญาเข้ารับประกันลูกค้าที่จำเลยที่ ๑ นำมากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ บัดนี้ผู้กู้ผิดสัญญาไม่ชำระเงินคืนโจทก์ ๕ ราย เป็นเงิน ๓๓๖,๒๕๒.๒๘ บาท ขอให้ศาลสั่งยึดทรัพย์สินของจำเลยที่จำนองขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองปฏิเสธ
นายดาอี เกกินะ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่ามีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีนี้ และอาจถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยหรืออาจถูกจำเลยที่ ๑ ฟ้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ย เนื่องจากผู้ร้องได้จำนองทรัพย์ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ และบุคคลอื่นไว้กับโจทก์ จึงขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ ๒ โจทก์จำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต
ต่อมานายดาอี เกกินะ ผู้ร้องแต่งทนายใหม่และยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าทำไปเพราะเนื่องจากจำเลยที่ ๑ หลอกลวง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องได้แต่งทนายเข้ามาเป็นจำเลยร่วม แม้จะเป็นการหลงผิด แต่นอกจากผู้ร้องจะได้ทำสัญญาจำนองไว้กับโจทก์เพื่อค้ำประกันจำเลยที่ ๑ แล้ว ยังเป็นผู้ค้ำประกันผู้กู้เงินจากโจทก์อีก หากจำเลยทั้งสองแพ้คดี ก็มีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ร้อง และโจทก์ไม่ยอมให้ผู้ร้องถอนตัวจากการเป็นจำเลยร่วม จำเป็นที่จะเรียกร้องผู้ร้องเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ส่วนการขอถอนทนายนั้นอนุญาต
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การร้องสอดของผู้ร้องเป็นไปโดยผู้ร้องถูกหลอกลวงหรือไม่และสมควรจะให้ถอนไปหรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องพิจารณา เพราะถึงแม้จะเป็นจริง ผู้ร้องก็ต้องเข้ามาเป็นจำเลยในคดีอีก เนื่องจากศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นจำเป็น ได้สั่งเรียกผู้ร้องเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจกระทำได้ จึงพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาคัดค้านต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องถอนตัวจากการเป็นจำเลยร่วมนั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา กรณีไม่เข้าตามบทมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ หากผู้ร้องไม่เห็นพ้อง ก็มีสิทธิเพียงแต่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีแล้วเท่านั้น ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีเช่นในคดีนี้ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ ฝ่ายจำเลยได้โต้แย้งว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในเรื่องนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาให้เป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวไว้ในชั้นศาลฎีกาก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า ในประเด็นข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้ว่า เมื่ออุทธรณ์ของผู้ร้องต้องห้ามดังกล่าวแล้วศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจรับพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้อง ฉะนั้น ศาลฎีกาจึงรับพิจารณาฎีกาของผู้ร้องไม่ได้
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และฎีกาของผู้ร้องเสีย.

Share