คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยสองคนรับผิดทางแพ่ง ปรากฏว่าจำเลยคนหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล และมูลคดีก็เกิดขึ้นในเขตศาลนั้น ทั้งพยานหลักฐานส่วนใหญ่ก็อยู่ในจังหวัดนั้นด้วยทั้งโจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องจนศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลได้ การที่ศาลรับฟ้องคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการชอบแล้ว
เดิมกรมทางหลวงมีชื่อว่ากรมทางหลวงแผ่นดิน สังกัดกระทรวงคมนาคม ต่อมาได้มีกฎหมายบัญญัติให้กรมทางหลวงแผ่นดินอยู่ในสังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ฯลฯ ไปเป็นของกรมทางหลวงนั้น โดยผลแห่งกฎหมาย หนี้สินและสิทธิเรียกร้องที่กรมทางหลวงแผ่นดินมีต่อจำเลยลูกหนี้ย่อมโอนไปยังกรมทางหลวงโจทก์ โดยมิพักต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้แต่อย่างใดและโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
การที่จำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ได้ยักยอกเงินของทางราชการไปด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด
กรณีละเมิดนั้น เมื่อโจทก์เพิ่งได้ทราบเรื่องจำเลยยักยอกจากการตรวจสอบบัญชีและหลักฐานการสอบสวนจากพนักงานเจ้าหน้าที่และมาฟ้องคดีในเวลายังไม่ครบ 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้กระทำละเมิดและรู้ถึงการกระทำละเมิด คดีของโจทก์จึงยังหาขาดอายุความไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขณะรับราชการเป็นหัวหน้าบัญชีโทประจำเขตการทางสงขลา มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินได้ยักยอกเงินของโจทก์ และจำเลยที่ ๒ รับราชการเป็นนายช่างเขตการทางสงขลามีหน้าที่รับผิดชอบของเขตการทางสงขลาโดยทั่วไป ได้ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมตรวจหลักฐานการบัญชี ตัวเงิน และการจ่ายเงินของโจทก์จำเลยที่ ๑ จึงยักยอกเงินของโจทก์ไป ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๖๐,๗๑๒.๕๐ บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๖๐,๖๐๖.๕๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองร่วมกัน โดยเฉพาะจำเลยที่ ๑ ได้ความว่าได้หลบหนีคดีไปจากจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตน มูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตของศาลจังหวัดสงขลา และพยานหลักฐานส่วนใหญ่ก็อยู่ในจังหวัดสงขลา อีกทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้อง และศาลจังหวัดสงขลาเห็นว่าการพิจารณาคดีนี้ในศาลจังหวัดสงขลาจะเป็นการสะดวก จึงได้สั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดสงขลาได้ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลจังหวัดสงขลารับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษานั้นชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ได้ความว่าเดิมกรมทางหลวงนี้เรียกชื่อว่ากรมทางหลวงแผ่นดิน สังกัดกระทรวงคมนาคม ครั้นต่อมาได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมพ.ศ. ๒๕๐๖ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมเดิมเสียทั้งสิ้น และบัญญัติไว้ตามมาตรา ๑๘ ให้กรมทางหลวงแผ่นดินอยู่ในสังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เรียกชื่อใหม่ว่า กรมทางหลวงขณะเดียวกันได้มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารของกระทรวงทบวงกรมพ.ศ. ๒๕๐๖ ออกใช้บังคับโดยมาตรา ๒๔ บัญญัติให้โอนบรรดากิจการทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของกรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคมไปเป็นของกรมทางหลวงกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ฉะนั้น โดยผลแห่งกฎหมายดังกล่าว หนี้สินและสิทธิเรียกร้องที่กรมทางหลวงแผ่นดินมีอยู่ต่อจำเลยทั้งสองอย่างใดนั้นย่อมโอนไปยังกรมทางหลวงกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติโจทก์ในคดีนี้ โดยมิพักต้องบอกกล่าวการโอนหนี้ไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้แต่ประการใดไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามคดีนี้
ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ นั้นเห็นว่า ตามหลักฐานต่าง ๆ เป็นระเบียบของทางราชการซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้รับทราบและจะต้องถือปฏิบัติเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น เพราะผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๒ ด้วยแล้ว จำเลยที่ ๒ ก็ต้องรับผิด ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาข้อสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ได้ความว่านายใจยง หัวหน้าแผนกงบประมาณ กองการบัญชีและการเงินได้ไปตรวจสอบบัญชีและหลักฐานต่าง ๆ ของเขตการทางสงขลาเมื่อเดือนพฤษภาคม๒๕๐๖ ก็จริง แต่การตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆของเขตการทางสงขลาเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๖เพิ่งจะเสร็จสิ้นและทราบการทุจริตนายใจยงกลับมากรุงเทพฯรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ตามคำขอนายปุยผู้อำนวยการกองบัญชีและการเงินว่า เมื่อทราบเรื่องจากนายใจยงจึงได้ทำรายงานให้อธิบดีกรมทางหลวงทราบผลของการตรวจสอบบัญชีและหลักฐานการสอบสวนคดีนี้เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๐๖ และอธิบดีกรมทางหลวงโจทก์เพิ่งทราบการกระทำละเมิดของจำเลยเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๐๖ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๗ ยังไม่ครบ ๑ ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้กระทำละเมิดและรู้ถึงการกระทำละเมิด คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยที่ ๒

Share