แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พฤติการณ์ของจำเลยที่ขับรถจักรยานยนต์เข้าไปสอบถามโจทก์ร่วมเกี่ยวกับการเฝ้ารถ เมื่อโจทก์ร่วมไม่ยอมให้เฝ้าจำเลยกลับเร่ง เครื่องยนต์ให้ดังกว่าปกติและพูดในลักษณะไม่รับรองความเสียหายของรถยนต์ของโจทก์นั้น ย่อมชี้ชัดให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการจะข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้ซึ่งค่าจอดรถแก่จำเลยนั่นเอง แม้ในครั้งแรกโจทก์ร่วม จะปฏิเสธไม่ให้จำเลยเฝ้ารถแต่เมื่อโจทก์ร่วมถูกจำเลยข่มขู่ ในภายหลังจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเกิดความกลัวว่าจะเกิด ความเสียหายแก่รถยนต์ของตน โจทก์ร่วมจึงยินยอมจ่ายเงิน ให้แก่ ศ. พวกของจำเลยไป นับได้ว่าเป็นผลต่อเนื่องโดยตรง จากการถูกจำเลยข่มขู่ ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นยังไม่ขาดตอน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จในข้อหากรรโชกแล้ว แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหา ความผิดสำเร็จ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้เองโดยลงโทษ ไม่เกินกว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ เงินที่โจทก์ร่วมจ่ายให้แก่จำเลยมีจำนวนเพียง 10 บาทนับว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยทั้งได้ความว่าโจทก์ร่วมไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยรับโทษถึงจำคุก เนื่องจากหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วจำเลยได้แก้ไขพฤติกรรมของตนเองให้ดีขึ้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการ ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ศาลฎีกาเห็นสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337, 83ให้จำเลยคืนเงิน 10 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายศิริชัย พลการ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 วรรคแรก, 83 ลงโทษจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 10 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก, 80, 83 ลงโทษจำคุก 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ โจทก์ร่วมขับรถยนต์ไปส่งนางพรรณี พลการ ภริยาที่อาคารแฟลต 19 คลองจั่นของการเคหะแห่งชาติ ต่อมาโจทก์ร่วมได้ให้เงิน 10 บาทแก่นายศุภเดชลูกน้องของจำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วม และนางพรรณีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า หลังจากโจทก์ร่วมนำรถยนต์เข้าไปจอดที่อาคารแฟลต 19 พบจำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้ามาถามโจทก์ร่วมว่าจะให้เฝ้ารถหรือไม่ เมื่อโจทก์ร่วมปฏิเสธจำเลยได้เร่งเครื่องรถจักรยานยนต์จนเกิดเสียงดังพร้อมกับพูดในทำนองไม่รับรองความปลอดภัยของรถยนต์ แล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์จากไปก่อนขึ้นบนอาคาร โจทก์ร่วมกลัวว่ารถยนต์ของตนจะได้รับความเสียหายจึงจ่ายเงิน 10 บาท ให้แก่นายศุภเดช เห็นว่า คำเบิกความของโจทก์ร่วมกับนางพรรณีสอดคล้องต้องกันดีไม่มีพิรุธ ทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อว่า ทั้งสองคนเบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้นซึ่งตามฎีกาของจำเลยก็มิได้โต้แย้งในเรื่องนี้เพียงแต่อ้างว่าจำเลยแจ้งความประสงค์ที่จะรับจ้างเฝ้ารถยนต์ให้แก่โจทก์ร่วมเมื่อโจทก์ร่วมไม่ต้องการ จำเลยจึงบอกให้โจทก์ร่วมทราบว่าหากรถยนต์เสียหายขึ้นมาจำเลยจะไม่รับผิดชอบเท่านั้น มิได้ขู่เข็ญโจทก์ร่วมแต่อย่างใด ข้อต่อสู้ในชั้นฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ขัดกับคำของจำเลยเองที่เบิกความว่า จำเลยมิได้สอบถามโจทก์ร่วมถึงเรื่องดังกล่าว โดยนำสืบว่า เมื่อเห็นโจทก์ร่วมขับรถยนต์มาถึงจำเลยสั่งให้นายศุภเดชอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับโจทก์ร่วม จะให้เงินหรือไม่แล้วแต่เขา จึงทำให้ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวขาดน้ำหนักที่จะรับฟังได้ ประกอบกับโจทก์และโจทก์ร่วมมีร้อยเอกวิฑูรย์ ทวีสุข เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานเคยนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณที่เกิดเหตุ พบจำเลยขอเฝ้ารถแต่พยานไม่ยอม เป็นเหตุให้รถยนต์ของพยานถูกขีดข่วนจนเสียหายและยังมีนายไพศาล อั้นประเสริฐพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่า รถยนต์ของพยานไม่เคยเสียหายเพราะจ่ายค่าจอดรถให้แก่จำเลยพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ขับรถจักรยานยนต์เข้าไปสอบถามโจทก์ร่วมเกี่ยวกับการเฝ้ารถ เมื่อโจทก์ร่วมไม่ยอมให้เฝ้าจำเลยกลับเร่งเครื่องยนต์ให้ดังกว่าปกติและพูดในลักษณะไม่รับรองความเสียหายรถยนต์ของโจทก์ร่วมนั้น ย่อมชี้ชัดให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการจะข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้ซึ่งค่าจอดรถแก่จำเลยนั่นเอง แม้ในครั้งแรกโจทก์ร่วมจะปฏิเสธไม่ให้จำเลยเฝ้ารถ แต่เมื่อโจทก์ร่วมถูกจำเลยข่มขู่ในภายหลังจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเกิดความกลัวว่าจะเกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของตนแล้วโจทก์ร่วมยินยอมจ่ายเงินให้แก่นายศุภเดชพวกของจำเลย นับได้ว่าเป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากการถูกจำเลยข่มขู่ ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นยังไม่ขาดตอนการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จในข้อหากรรโชกแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหตุที่โจทก์ร่วมให้เงินดังกล่าวก็เพราะโจทก์ร่วมประสงค์จะใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีแก่จำเลย มิใช่ให้เงินตามที่จำเลยเรียกร้องนั้น เห็นว่าตามพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งได้ความว่า โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุเป็นเวลานานร่วม10 วัน จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมให้เงินแก่พวกจำเลยเนื่องจากต้องการใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเท่านั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดสำเร็จแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้เองโดยลงโทษไม่เกินกว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต่อไปว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เงินที่โจทก์ร่วมจ่ายให้แก่จำเลยมีจำนวนเพียง 10 บาท นับว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย ทั้งได้ความว่า โจทก์ร่วมไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยรับโทษถึงจำคุก เนื่องจากหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วจำเลยได้แก้ไขพฤติกรรมของตนเองให้ดีขึ้นไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป เห็นสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 วรรคแรก 83 จำคุก 8 เดือน และปรับ 4,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์