แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด ทั้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ได้กระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกา
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดเป็นลูกจ้างกองน้ำบาดาล ในสังกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีฐานะเป็นกรม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาจะมี พ.ร.ฎ.ให้โอนกองน้ำบาดาลไปสังกัดจำเลยร่วม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะฐานะของกองน้ำบาดาล ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 สังกัดในขณะเกิดเหตุยังมีผลผูกพันต่อไป
สำหรับค่าขาดแรงงานไม่ใช่ค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะผู้ตายทั้งสองยังมีชีวิตได้ช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 4 จึงไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 1,928,250.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,149,240 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 150,000 บาท และชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 อีกจำนวน 616,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิด (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ทั้งสี่ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบและขอพิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเริ่มตั้งแต่สั่งรับใบแต่งทนายความของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและคำคัดค้านฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2546 เป็นต้นไป แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 263,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่และชำระเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2546 ตามขอ และนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของคดีระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ทั้งสี่ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาของจำเลยร่วมนั้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด โดยให้เหตุผลว่าเป็นความรับผิดของจำเลยที่ 2 เท่านั้น เพราะเป็นนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่ขณะเกิดเหตุ จึงสมประโยชน์ของจำเลยร่วมแล้ว ทั้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ได้กระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยร่วมแต่อย่างใด จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกา ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยร่วมจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในผลแห่งละเมิดได้หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำของกองน้ำบาดาลซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นกรม จึงเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม…”และมาตรา 5 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในขณะเกิดเหตุ กองน้ำบาดาลเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ด้วย แม้ต่อมาจะมีการจัดตั้งจำเลยร่วมขึ้นโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 23 (5) (7) กับมีพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 4 และมาตรา 64 บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกองน้ำบาดาล สังกัดจำเลยที่ 2 มาเป็นของจำเลยร่วมก็ตาม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงฐานะเฉพาะกองน้ำบาดาลซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่ด้วยในขณะเกิดเหตุยังมีผลผูกพันต่อไป โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่เพียงใด ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 4 สูงเกินไปและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เกินคำขอนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 4 เบิกความว่า ในขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 4 อายุ 19 ปี ต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนายฉัตรชัยกับนางการุณผู้ตายทั้งสอง ซึ่งคำนวณเป็นค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 6,000 บาทเป็นเวลา 1 ปี ค่าบำรุงการศึกษาปี 2545 จำนวน 24,240 บาท รวมเป็นเงิน 96,240 บาท และโจทก์ที่ 4 ต้องขาดแรงงานและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย เห็นว่า โจทก์ที่ 4 เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 2 เดือนละ 6,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี ค่าบำรุงการศึกษาปี 2545 อีกจำนวน 24,240 บาท รวมเป็นเงิน 96,240 บาท ไว้แล้ว ส่วนค่าขาดแรงงานที่ผู้ตายทั้งสองไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่โจทก์ที่ 4 ซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดให้อีกเป็นเงิน 153,760 บาทนั้น ค่าขาดแรงงานดังกล่าวมิใช่ค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม อีกทั้งขณะผู้ตายทั้งสองยังมีชีวิตอยู่โจทก์ที่ 4 ก็มิได้ร่วมกับผู้ตายทั้งสองทำงานอันจะถือได้ว่าผู้ตายทั้งสองช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ที่ 4 และเมื่อผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายทำให้เป็นกรณีที่ต้องขาดแรงงานแต่อย่างใด โจทก์ที่ 4 จึงไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงานและค่าการศึกษาต่อมาอีกได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 96,240 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ