คำวินิจฉัยที่ 30/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. ยื่นขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินของโจทก์ครึ่งแปลง ทั้งไม่แจ้งการระวังชี้แนวเขตให้โจทก์ทราบ การรังวัดสอบเขตที่ดินผิดพลาดและการนำชี้ที่ดินไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การในทำนองเดียวกันว่า ออกโฉนดที่ดินโดยชอบแล้ว จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การนำชี้และรังวัดออกโฉนดที่ดินกระทำโดยสุจริต ไม่ได้นำชี้รังวัดทับที่ดินของโจทก์ การออกโฉนดที่ดินถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า คดีนี้ เป็นคดี ที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๐/๒๕๕๙

วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนราธิวาส
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนราธิวาสโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ นายมะรีเป็ง สาแล โจทก์ ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส สาขาตากใบ ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายมะยูโซ๊ะ มะ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ ๔๙๓/๒๕๕๗ หมายเลขแดงที่ ๔๖๕/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๘๙๙ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ ๕๐ ตารางวา มาตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ ด้วยการซื้อและรับโอนมาจากนายมะแอ ตาเยะ ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ ได้นัดทำการรังวัด ๓ ครั้ง ต่อมาจำเลยที่ ๑ แจ้งโจทก์ว่าไม่อาจรังวัดได้เนื่องจากที่ดินดังกล่าวทับซ้อนกับที่ดินของจำเลยที่ ๓ ซึ่งได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๔๕๒ แล้ว เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ซึ่งโจทก์เห็นว่า การดำเนินการออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่แจ้งการระวังชี้แนวเขตให้โจทก์ทราบ อีกทั้งที่ดินของจำเลยที่ ๓ ที่ขอรังวัดนั้น ไม่มีแนวเขตส่วนใดติดถนนเลย จึงเป็นการออกโฉนดทับที่ดินของโจทก์ไปจำนวนครึ่งแปลง การรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ ผิดพลาดและการนำชี้ที่ดินโดยไม่สุจริตของจำเลยที่ ๓ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๔๕๒ ของจำเลยที่ ๓ และออกโฉนดที่ดินตามคำขอที่โจทก์ยื่นไว้
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยชอบแล้ว ที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดเลขที่ ๒๔๔๕๒ ให้แก่จำเลยที่ ๓ เดิมเป็นที่ดิน ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๐๙๘ ซึ่งจำเลยที่ ๓ มีสิทธิครอบครองตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ส่วนที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๙๙ ของโจทก์ได้ออก น.ส. ๓ ก. เมื่อปี ๒๕๒๙ โดยเจ้าของเดิมไม่มีสิทธิขอออก น.ส. ๓ ก. เพราะได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ ไปแล้ว โจทก์รับโอนมาภายหลัง จึงไม่มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธินำ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๙๙ มาขอออกโฉนดได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน การนำชี้และรังวัดออกโฉนดที่ดินได้กระทำไปโดยสุจริตตามที่ดินที่มีการครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ไม่ได้นำชี้รังวัดทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ เพราะที่ดินของโจทก์ไม่ได้มีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของจำเลยที่ ๓ การออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนราธิวาสพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะมีการโต้แย้งกันเรื่องกระบวนการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ ว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ แต่การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๓ นำชี้รังวัดที่ดินรุกล้ำที่ดินของโจทก์ โดยมีคำขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกให้แก่จำเลยที่ ๓ กับออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ตามคำขอที่ได้ยื่นไว้ ก็เป็นไปเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ได้รับการรับรองหรือคุ้มครอง ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินส่วนที่มีการรังวัดว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งเป็นสิทธิในทรัพย์สินต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดิน อันเป็นกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษประกอบด้วย ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น เมื่อเป็นการโต้แย้งคัดค้านเพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นการฟ้องคดีอันเป็นการกล่าวอ้างว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับกรณีการรังวัดที่ดิน ตามมาตรา ๖๙ ทวิ และมาตรา ๗๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ทับซ้อนกับของจำเลยที่ ๓ และมีคำขอให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินและออกโฉนดที่ดินตามคำขอที่โจทก์ได้ยื่นไว้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามคำขอของโจทก์โดยการเพิกถอนโฉนดที่ดินฉบับพิพาทได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะหากศาลปกครองพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการกระทำทางปกครองของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ซึ่งได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๘๙๙ ซึ่งมีที่ดินแปลงพิพาทในคดีนี้บางส่วนรวมอยู่ด้วยมาตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ ๓ ได้รับโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๔๕๒ อาจถือเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ อันจะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อภาระการพิสูจน์ในเรื่องสิทธิครอบครองของโจทก์และจำเลยที่ ๓ ในกรณีที่จำเลยที่ ๓ ประสงค์จะนำคดีที่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินดังกล่าวไปฟ้องศาลยุติธรรมเป็นอีกคดีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าโจทก์หรือจำเลยที่ ๓ ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพาทดังกล่าว อันเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกันกับประเด็นหลักในคดีนี้ตามคำขอที่โจทก์ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินตามคำขอที่โจทก์ยื่นไว้กับจำเลยที่ ๑ นั้น หากศาลปกครองเห็นว่า ควรพิจารณาพิพากษาตามคำขอดังกล่าวไปในคราวเดียวกันกับประเด็นพิพาทหลักในคดีนี้ได้ ศาลปกครองก็ย่อมมีอำนาจยกเอาบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาได้ตามความยุติธรรมเพราะหาได้มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ และหามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้ศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะมีอำนาจยกเอาบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น คดีนี้จึงสมควรเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๙๙ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ ๕๐ ตารางวา ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๔๕๒ให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ไปจำนวนครึ่งแปลง ทั้งไม่แจ้งการระวังชี้แนวเขตให้โจทก์ทราบ อีกทั้งที่ดินของจำเลยที่ ๓ ที่ขอรังวัดนั้น ไม่มีแนวเขตส่วนใดติดถนนการรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ ผิดพลาดและการนำชี้ที่ดินโดยไม่สุจริตของจำเลยที่ ๓ ทำให้โจทก์เสียหายสูญเสีย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๔๕๒ของจำเลยที่ ๓ และออกโฉนดที่ดินตามคำขอที่โจทก์ยื่นไว้ ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองและนำ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๙๙ มาขอออกโฉนดได้ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน การนำชี้และรังวัดออกโฉนดที่ดินได้กระทำไปโดยสุจริตตามที่ดินที่มีการครอบครอง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่ได้นำชี้รังวัดทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ เพราะที่ดินของโจทก์ไม่ได้มีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของจำเลยที่ ๓ การออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีนี้ แม้ว่าโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินอันเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ก็เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายมะรีเป็ง สาแล โจทก์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส สาขาตากใบ ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายมะยูโซ๊ะ มะ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share