คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1795/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พยานบุคคลของโจทก์ได้เบิกความรับรองพยานเอกสารว่ามีอยู่จริงและถูกต้อง แม้พยานโจทก์ที่เบิกความมาจะมิได้รู้เห็นขณะทำพยานเอกสาร แต่พยานเหล่านั้นเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร และเมื่อได้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆแล้ว ก็สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังพยานบุคคลของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95(2) ข้อตกลงในหนังสือแต่งตั้งตัวแทนมีสาระสำคัญว่าเมื่อโจทก์ซื้อหลักทรัพย์ตามคำสั่งของจำเลยและออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยภายใน 4 วัน นับแต่วันซื้อจำเลยจะต้องชำระเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายจนครบพร้อมค่าใช้จ่ายและบำเหน็จ มี ส. เบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ลงชื่อออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระหนี้ให้โจทก์ แม้ ส. จะมิได้รู้เห็นขณะจำเลยลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่ ส. เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและปฏิบัติการของโจทก์ และได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยเคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินแลกเปลี่ยนกับฉบับเดิมที่ไม่ได้มีการชำระมาหลายครั้ง ลายมือชื่อของจำเลยในตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมอยู่ในความรู้เห็นของ ส.ดังนั้นส. จึงอยู่ในฐานะที่จะรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวได้คำเบิกความของพยานจึงไม่ใช่พยานบอกเล่าที่จะต้องห้ามมิให้รับฟัง การที่ ก. พยานโจทก์เบิกความว่าตามหลักฐานที่โจทก์ส่งศาลในวันเบิกความไม่มีฉบับใดยืนยันว่าโจทก์ซื้อหุ้นบริษัท ส.และบริษัทฟ. แต่เมื่อ ก. ได้เบิกความไว้ด้วยว่า เอกสารที่ศาลขอหมายเรียกไปก่อนมาเบิกความนั้นได้จัดส่งมาให้แล้ว แต่ส่งผิดไปที่ศาลอื่น จึงไม่มีเอกสารดังกล่าวให้พยานตรวจดู จะฟังว่าโจทก์มิได้ซื้อหลักทรัพย์ของ 2 บริษัทดังกล่าวและมิได้ออกเงินทดรองแทนจำเลยหาได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ที่ค้าง โจทก์จึงนำหุ้นของจำเลย5 รายการ ออกขายในตลาดหลักทรัพย์นำเงินมาหักชำระหนี้ที่ค้าง และจำเลยยอมรับว่ามีการขายหุ้นของจำเลยไปจริงดังนี้ เมื่อปรากฏตามหนังสือตั้งตัวแทนซึ่งมีข้อความว่าหากจำเลยผิดนัดในการชำระเงิน ยอมให้โจทก์เลือกปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง และยอมให้โอนขายหลักทรัพย์ดังกล่าวแก่บุคคลใด ๆ ในราคาที่เห็นสมควร ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวนี้ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงใช้บังคับกันได้ เมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมนำหุ้นที่ซื้อแทนจำเลยไว้ออกขายได้โดยไม่จำต้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า แม้ในคำฟ้องจะใช้คำว่า ขอเรียกค่านายหน้า แต่กรณีนี้ความจริงเป็นเรื่องที่โจทก์เรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยเข้าลักษณะตัวการตัวแทน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด10 ปี มิใช่ 2 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเงินทุนและซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2521 จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์มอบหมายให้โจทก์เป็นตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยให้โจทก์จ่ายเงินทดรองไปก่อน และรับเงินที่ได้จากการขายหุ้นแทนจำเลยเพื่อชดใช้เงินทดรองได้ โดยจำเลยจะจ่ายค่านายหน้าให้ หากผิดนัดยินยอมชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กับให้โจทก์โอนขายหุ้นแทนเพื่อชำระหนี้เงินทดรองจ่ายและค่านายหน้า หากไม่พอยินยอมชดใช้ให้จนครบ ต่อมาโจทก์ซื้อหุ้นให้จำเลยหลายครั้งตามคำสั่งของจำเลยและทดรองจ่ายเงินแทนไปรวมทั้งค่านายหน้าเป็นเงิน1,475,340 บาท จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระหนี้ให้โจทก์ทุกครั้งพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดโจทก์ทวงถามแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงนำหุ้นที่ซื้อแทนจำเลยออกขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนำเงินมาชำระหนี้เงินทดรองจ่ายกับค่านายหน้ารวม 175,920.50 บาท ระหว่างปี 2522ถึง 2528 โจทก์ได้รับเงินปันผลจากหุ้นแทนจำเลย 101,802 บาทเมื่อรวมกับเงินที่จำเลยฝากไว้กับโจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน389,261.13 บาท นำมาหักชำระหนี้ที่ค้างเมื่อวันที่ 28 มีนาคม2528 จำเลยยังคงเป็นหนี้เงินทดรองจ่ายและค่านายหน้า808,356.37 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี เป็นเงิน 746,688.21 บาท รวมทั้งสิ้น 1,555,044.58 บาท แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,555,044.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงิน 808,356.37 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ซื้อหุ้นและทดรองจ่ายเงินค่าหุ้นแทนจำเลย จึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ลายเซ็นในตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 18ถึง 27 ไม่ใช่ลายเซ็นของจำเลย และตั๋วสัญญาใช้เงินขาดอายุความ3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 แล้ว โจทก์ไม่ได้นำหุ้นที่อ้างว่าซื้อแทนจำเลยออกขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากมีการขายก็กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายการคำนวณหนี้สินของโจทก์ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และผิดหลักเกณฑ์ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย มูลหนี้ตามฟ้องและการคิดดอกเบี้ยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย หนี้ค่านายหน้าขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) เดิม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ 1,555,044.58 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 808,356.37 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ได้รับอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์และมอบหมายให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า พยานบุคคลของโจทก์เป็นพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า พยานบุคคลของโจทก์ได้เบิกความรับรองพยานเอกสารว่ามีอยู่จริงและถูกต้อง แม้พยานโจทก์ที่เบิกความมาจะมิได้รู้เห็นขณะทำพยานเอกสาร แต่พยานเหล่านั้นเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร และเมื่อได้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆแล้ว ก็สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ ทั้งเอกสารต่าง ๆที่โจทก์อ้างมาจำเลยก็หาได้นำสืบว่าไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังพยานบุคคลของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95(2)
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้ซื้อหุ้นและออกเงินทดรองจ่ายให้จำเลยจริง และจำเลยไม่ได้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นโจทก์มีหนังสือยืนยันสัญญาซื้อ เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.21เป็นพยานสำคัญและนำนางสาวสุภางค์ มงคลรัตน์ มาเบิกความประกอบสนับสนุนว่า เมื่อโจทก์ซื้อหุ้นตามคำสั่งของจำเลยทั้ง 10 ครั้งตามฟ้องโดยมีนายอนุลักษณ์ผู้แทนจำเลยลงชื่อยืนยันสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.21 และจำเลยเป็นผู้ลงชื่อออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้เงินทดรองจ่ายกับค่านายหน้าให้โจทก์มีกำหนดเวลาใช้เงินภายใน 3 เดือน หากครบกำหนดจำเลยยังไม่ชำระหนี้ จำเลยจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่มาเปลี่ยนให้ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจำเลยออกให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.22 ถึงจ.31 ก็ปรากฏว่าจำนวนเงินและเลขที่ซึ่งระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินตรงกับเลขที่ของสัญญาในหนังสือยืนยันสัญญาซื้อ ส่วนจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น และเมื่อได้พิจารณาเอกสารหมาย จ.12ถึง จ.21 และ จ.22 ถึง จ.31 กับข้อตกลงในหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเอกสารหมาย จ.7 ประกอบด้วยแล้ว เห็นว่า เอกสารหมาย จ.7ข้อ 2 และ ข้อ 3 มีสาระสำคัญว่า เมื่อโจทก์ซื้อหลักทรัพย์ตามคำสั่งของจำเลยและออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยภายใน 4 วันนับแต่วันซื้อจำเลยจะต้องชำระเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายจนครบพร้อมค่าใช้จ่ายและบำเหน็จ นอกจากนั้นนางสาวสุภางค์เบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ลงชื่อออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระหนี้ให้โจทก์แม้นางสาวสุภางค์จะมิได้รู้เห็นขณะจำเลยลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่นางสาวสุภางค์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและปฏิบัติการของโจทก์และได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยเคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินแลกเปลี่ยนกับฉบับเดิมที่ไม่ได้มีการชำระมาหลายครั้งลายมือชื่อของจำเลยในตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมอยู่ในความรู้เห็นของพยาน ดังนั้นพยานจึงอยู่ในฐานะที่จะรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวได้ คำเบิกความของพยานไม่ใช่พยานบอกเล่าที่จะต้องห้ามมิให้รับฟัง ข้อที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่าเมื่อจำเลยมิใช่ผู้ลงชื่อยืนยันคำสั่งซื้อ จำเลยจะเป็นผู้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินในวันสั่งซื้อได้อย่างใด เห็นว่าแม้จำเลยจะมิใช่ผู้ลงชื่อในหนังสือยืนยันสัญญาซื้อ จำเลยก็สามารถลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินในวันเดียวกันได้ ถึงอย่างไรก็ตามแม้จำเลยไม่ได้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินในวันสั่งซื้อก็ลงชื่อภายหลังได้ พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.31เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.31 มีจำนวนเงินและเลขที่สัญญาตรงกับที่ระบุในหนังสือยืนยันสัญญาซื้อตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.21 ย่อมรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ซื้อหลักทรัพย์และจ่ายเงินทดรองแทนจำเลยตามจำนวนเงินในเอกสารดังกล่าว ที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า นายไกรทัศน์ ศิริกาญจนะพยานโจทก์เบิกความว่าตามหลักฐานที่โจทก์ส่งศาลในวันนี้ไม่มีฉบับใดยืนยันว่าโจทก์ซื้อหุ้นบริษัทสยามเครดิต จำกัดบริษัทเฟิส์ททรัสต์ จำกัด แสดงว่าโจทก์มิได้ซื้อหุ้นดังกล่าวและออกเงินทดรองแทนจำเลยนั้น เห็นว่า นายไกรทัศน์เบิกความไว้ด้วยว่า เอกสารที่ศาลขอหมายเรียกไปก่อนมาเบิกความนั้นได้จัดส่งมาให้แล้ว แต่ส่งผิดไปที่ศาลแพ่ง ปรากฏว่าคำสั่งเรียกพยานเอกสารจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลงวันที่31 ตุลาคม 2532 ระบุให้ส่งสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัททั้งสองดังกล่าวอยู่ด้วย เมื่อมีการส่งผิดไปที่ศาลแพ่งในขณะที่พยานปากนี้เบิกความ จึงไม่มีเอกสารดังกล่าวให้พยานตรวจดูจะฟังว่าโจทก์มิได้ซื้อหลักทรัพย์ของ 2 บริษัทดังกล่าวและมิได้ออกเงินทดรองแทนจำเลยหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ซื้อหลักทรัพย์และออกเงินทดรองจ่ายให้จำเลย และจำเลยได้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินให้ตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.21และ จ.22 ถึง จ.31
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ขายหุ้นของจำเลยและกระทำไปโดยไม่ชอบนั้น ในข้อนี้โจทก์มีนางสาวสุภางค์เบิกความว่าเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ที่ค้าง โจทก์จึงนำหุ้นของจำเลย 5 รายการออกขายในตลาดหลักทรัพย์นำเงินมาหักชำระหนี้ที่ค้าง ส่วนจำเลยนำสืบแต่เพียงว่า โจทก์นำหุ้นออกขายโดยมิได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า ขัดต่อพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์เป็นการไม่ชอบ ตามข้อนำสืบของจำเลยแสดงว่า ยอมรับว่ามีการขายหุ้นของจำเลยไปจริง สำหรับข้อที่ว่าเป็นการขายโดยชอบหรือไม่นั้นปรากฏว่าตามหนังสือตั้งตัวแทนเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 5 มีข้อความว่าหากจำเลยผิดนัดในการชำระเงิน ยอมให้โจทก์เลือกปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง และข้อ 5.2 ยอมให้โอนขายหลักทรัพย์ดังกล่าวแก่บุคคลใด ๆ ในราคาที่เห็นสมควร เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนใช้บังคับกันได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมนำหุ้นที่ซื้อแทนจำเลยไว้ออกขายได้โดยไม่จำต้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า เงินค่านายหน้าขาดอายุความแล้ว และจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์นั้น เห็นว่า แม้ในคำฟ้องจะใช้คำว่า ขอเรียกค่านายหน้า แต่กรณีนี้ความจริงเป็นเรื่องที่โจทก์เรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย เข้าลักษณะตัวการตัวแทน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด 10 ปีมิใช่ 2 ปี ดังจำเลยอ้าง เมื่อโจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share