คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา ดังนั้น จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ทำนองว่าเป็นนิติกรรมที่มีค่าตอบแทนนั้น ก็เป็นการนำสืบที่ขัดกับเอกสารซึ่งระบุชัดเจนว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่อาจรับฟังได้
ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เมื่อจำเลยที่ 1 มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องแต่เพียงอย่างเดียวและเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาสองแสนบาทเศษ และยังไม่ชำระให้โจทก์แต่กลับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีทางบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เป็นทางที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเพียงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นการทำนิติกรรมการโอนทั้ง ๆ รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26312 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยที่ 1 กลับมาเป็นเจ้าของที่ดินดังเดิมหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 26312 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยทั้งสองโดยให้จำเลยที่ 1 กลับมาเป็นเจ้าของดังเดิม ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนโอนดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อปี 2530 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 26312 พร้อมบ้านเลขที่ 95/1 หมู่ที่ 5 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ต่อมาปี 2536 จำเลยที่ 1 ถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่งให้ชำระหนี้เป็นเงิน 202,044 บาท และได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วศาลพิพากษาตามยอมให้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท ครั้นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้วจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นบุตรโดยเสน่หา โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้ในวันเดียวกับวันที่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า นิติกรรมการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบต้องเพิกถอนหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคแรก บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้ทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าปรากฏว่าในขณะทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้” จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้แสดงว่า นิติกรรมใด ๆ ที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ถ้าเป็นการให้โดยเสน่หา ลูกหนี้รู้แต่เพียงฝ่ายเดียวก็ขอเพิกถอนได้ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา ดังนั้น จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ทำนองว่าเป็นนิติกรรมที่มีค่าตอบแทน ก็เป็นการนำสืบที่ขัดกับเอกสารซึ่งระบุชัดเจนว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่อาจรับฟ้งได้ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 1 ได้ทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ขณะทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เมื่อจำเลยที่ 1 มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องแต่เพียงอย่างเดียว และเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาสองแสนบาทเศษ และยังไม่ชำระให้โจทก์ แต่กลับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีทางบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เป็นทางที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเพียงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้งๆ ที่ยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นการทำนิติกรรมการโอนทั้งๆ รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share