แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมกลับมีชื่อเป็นเจ้าของในโฉนดที่ดินพิพาทโดยทันที และ ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติไว้ความว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตามคำขอของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 14873 ตำบลหนองจอกฝั่งเหนือ อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 งาน 40 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1, ที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14873 ตำบลหนองจอกฝั่งเหนือ อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 งาน 40 ตารางวา ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 โดยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 และวันที่ 24 มีนาคม 2554 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ ตามสำเนาคำฟ้องและคำพิพากษา โดยในระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 14873 ตำบลหนองจอกฝั่งเหนือ อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 งาน 40 ตารางวา แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องชายสามีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้แก่โจทก์อีก คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่ามีเหตุเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จริง แต่เป็นการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์บังคับคดี อันเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและจำเลยที่ 2 ผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นก็รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ย่อมกลับมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดที่ดินพิพาทโดยทันที และประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติไว้ความว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างใดแล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตามคำขอของโจทก์ที่ว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองอีก
พิพากษายืน แต่คำขอของโจทก์ที่ว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองให้ยกเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ