คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1780/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ดำเนินคดีกับ น. ในข้อหาฉ้อโกงจำเลยชำระค่าจ้างว่าความส่วนหนึ่งให้แล้ว แต่โจทก์ยังไม่ฟ้องคดี หลังจากนั้น 1 ปี จำเลยทวงเงินค่าจ้างว่าความคืน โจทก์ก็ยังไม่ได้ฟ้อง น. นอกจากนี้ในคดีที่ ณ. สามีจำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นทนายความโดยให้จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้อง ส. โจทก์ก็มิได้จัดการให้ ณ. และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจจนศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี พฤติการณ์ทั้งสองกรณีดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ไม่สนใจในการดำเนินคดี บกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะผู้ที่จำเลยประสงค์จะฟ้องได้รับประโยชน์ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ฉะนั้น การที่จำเลยพูดกับ ป. ว่า “ไม่ว่าจ้างทนายแดง (โจทก์) แล้ว ทนายแดงชอบฮั้วคดี ไม่สนใจติดตามคดี” จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพูดใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามว่า “ไม่จ้างแล้วทนายแดง(ซึ่งหมายถึงโจทก์) ถอนจากการเป็นทนายแล้ว เอาได้ยังไงทนายฮั้วกัน ไม่สนใจติดตามคดี” ซึ่งหมายถึงโจทก์มีพฤติการณ์สมรู้ร่วมคิดกับบุคคลหรือทนายความคนอื่นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่สุจริต ไม่สนใจติดตามคดีให้จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และให้จำเลยประกาศชี้แจงข้อความจริงและขอโทษขออภัยโจทก์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดเลยอีกอย่างน้อย2 ฉบับ เป็นเวลา 15 วันติดต่อกัน และให้จำเลยทำหนังสือแจ้งต่อสภาทนายความซึ่งข้อเท็จจริงและคำขอโทษขออภัยโจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันพิพากษา กับให้จำเลยประกาศโฆษณาทางสถานีวิทยุท้องถิ่น ชี้แจงความจริงและขอโทษขออภัยโจทก์เป็นเวลา15 วันติดต่อกันอย่างน้อยวันละ 15 นาที โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทนายแดง จำเลยว่าจ้างโจทก์ว่าความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 997/2541 หมายเลขแดงที่ 727/2542 ของศาลชั้นต้น และคดีอื่นอีก 3 คดี ต่อมาจำเลยถอนโจทก์จากการเป็นทนายความทุกคดี สำหรับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 997/2541 หมายเลขแดงที่ 727/2542 นั้น ศาลชั้นต้นนัดพิจารณาวันที่ 18 สิงหาคม 2542 เวลา 13.30 นาฬิกา จำเลยไปศาลกับทนายความที่แต่งตั้งใหม่ นายประสงค์ ไชยยันโต ทนายความฝ่ายตรงข้ามในคดีดังกล่าวสอบถามจำเลย และให้จำเลยติดต่อโจทก์ให้มาศาล จำเลยพูดกับนายประสงค์ว่า “ไม่ว่าจ้างทนายแดงแล้ว ทนายแดง ชอบฮั้วคดี ไม่สนใจติดตามคดี”ก่อนนั้นคือวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 จำเลยได้ยื่นคำกล่าวหาโจทก์ต่อสภาทนายความตามสำเนาคำกล่าวหาเอกสารหมาย ล.6 และวันที่ 12 สิงหาคม 2542 นายณัฐ สุธาบัณฑิตพงศ์ และจำเลยแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ว่าปลอมเอกสารหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.9 ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2542 จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ว่า จำเลยไม่ได้แต่งตั้งนายชาญวิทย์แก้วผ่าน เป็นทนายความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 997/2541 หมายเลขแดงที่ 727/2542แต่ปรากฏว่าในสำนวนมีใบแต่งทนายความว่าจำเลยแต่งตั้งนายชาญวิทย์เป็นทนายความจำเลยมิได้ลงชื่อในใบแต่งทนายความดังกล่าวตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.4

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพูดของจำเลยที่พูดกับนายประสงค์ไชยยันโต ซึ่งสอบถามจำเลยและให้จำเลยติดต่อโจทก์มาศาลว่า “ไม่ว่าจ้างทนายแดงแล้วทนายแดงชอบฮั้วคดี ไม่สนใจติดตามคดี” เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ดำเนินคดีกับนายนิพนธ์ ภู่ระย้า ในข้อหาฉ้อโกง จำเลยชำระค่าจ้างว่าความแล้ว15,000 บาท แต่โจทก์ยังไม่ได้ฟ้องคดี ได้ความจากเอกสารหมาย ล.5 ว่า โจทก์รับเงินค่าจ้างว่าความไปแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 จนกระทั่งวันที่ 14 กันยายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทวงเงินค่าจ้างว่าความคืน โจทก์ก็ยังไม่ได้ฟ้องนายนิพนธ์ ซึ่งหากจำเลยให้โจทก์ชะลอการฟ้องนายนิพนธ์ไว้ดังโจทก์อ้างจำเลยคงไม่ทวงถามค่าจ้างว่าความคืนจากโจทก์ นอกจากนี้ในคดีที่นายณัฐ สุธาบัณฑิตพงศ์ สามีของจำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นทนายความฟ้องนายสุรพล เครือภักดี โจทก์บรรยายฟ้องว่านายณัฐมอบอำนาจให้จำเลยดำเนินคดีแทน แต่นายณัฐและจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี ทั้งสองกรณีที่กล่าวมาข้างต้นทำให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ไม่สนใจในการดำเนินคดี บกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและผู้ที่จำเลยประสงค์จะฟ้องได้รับประโยชน์ไม่ต้องถูกดำเนินคดี แม้เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการวินิจฉัยเป็นที่สุดก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่กล่าวมาย่อมทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้นได้การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share