แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกจ้างผู้ได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ดูแลครอบครองทรัพย์ที่มีผู้นำมาฝากไว้ในโกดังแทน ได้เอาทรัพย์ที่รับฝากไว้ให้ผู้ที่สมคบกันไปขาย โดยนายจ้างมิได้อนุญาต ทั้งลูกจ้างและผู้ที่สมคบย่อมมีความผิดฐานยักยอก มิใช่ลักทรัพย์
ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ทางพิจารณาได้ความว่า เป็นยักยอกทรัพย์ จะลงโทษจำเลยไม่ได้ ต้องยกฟ้อง
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสังกะสีแผ่นหนัก 97,500 กิโลกรัม หรือ 97.5 ตัน ราคา 160,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้นำสังกะสีจำนวนดังกล่าวฝากไว้ ณ คลังสินค้าของบริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด และบริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด ได้ออกใบรับของคลังสินค้าและใบประทวนสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2495 จำเลยที่ 1 ได้สลักหลังโอนกรรมสิทธิ์สังกะสีจำนวนดังกล่าวในใบรับของคลังสินค้าไปเป็นของพระยาพิพัฒน์ธนากร และหม่อมเจ้าหญิงบรรเจิด วรรณวรางค์ระหว่างวันที่ 25 ถึง 30 มิถุนายน 2495 วันใดไม่ปรากฏชัดเวลากลางวันจำเลยทั้งสองนี้ได้บังอาจสมคบกันลักสังกะสีดังกล่าวจำนวน 8 ตันเศษของพระยาพิพัฒน์ธนากรและหม่อมเจ้าหญิงบรรเจิดวรรณวรางค์ ซึ่งอยู่ในคลังสินค้า และอยู่ในความครอบครองของบริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด ไป และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2495 เวลากลางวัน และวันที่ 1 สิงหาคม 2495 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้บังอาจสมคบกันลักสังกะสีดังกล่าว จำนวน 88 ตันเศษ ของพระยาพิพัฒน์ธนากรและหม่อมเจ้าหญิง บรรเจิด วรรณวรางค์ ซึ่งอยู่ในคลังสินค้า และอยู่ในความครอบครองของบริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัดไปอีก รวมสังกะสีแผ่นที่จำเลยสมคบกันลักไปทั้งสิ้น 97.5 ตัน ราคา 160,000 บาท เหตุเกิดที่ตำบลคลองสาน กิ่งอำเภอคลองสานจังหวัดธนบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 293, 63, 71 และให้จำเลยคืนใช้ราคาทรัพย์ 160,000 บาท แก่เจ้าทรัพย์ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง
พระยาพิพัฒน์ธนากร และหม่อมเจ้าหญิง บรรเจิด วรรณวรางค์ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
ศาลอาญาพิจารณาคดีแล้ว ฟังว่า จำเลยทั้งสองได้สมคบกันลักสังกะสีรายนี้ไปจริงดังฟ้อง จึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 293 ประกอบด้วยมาตรา 71 ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี แต่เห็นว่า คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่คดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้จำเลยทั้งสอง 1 ใน 3 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี กับให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 160,000 บาท แก่เจ้าทรัพย์ด้วย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนฟังคำแถลงการณ์ และประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว
ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2495 จำเลยที่ 1 ได้นำสังกะสีแผ่น จำนวน 97 ตันครึ่งราคา 160,000 บาท ไปฝากไว้ในคลังสินค้าของบริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด ที่โกดัง 2 กิ่งอำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรีในนามของบริษัทเลี่ยงฮะกี่ บริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด นี้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ถนนราชวงศ์ และมีโกดังรับฝากสินค้าอยู่หลายแห่งจำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาโกดัง 2 ของบริษัท ได้ทำใบรับสินค้าขึ้น 3 ฉบับ ฉบับแรกเป็นต้นขั้วซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้เก็บ ฉบับที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ผู้ฝากรับเอาไป ฉบับที่ 3 จำเลยที่ 2 ส่งให้บริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด เพื่อตรวจสอบกับฉบับที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับใบรับสินค้าฉบับที่ 2 จากจำเลยที่ 2 แล้วก็ได้นำไปที่บริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด เมื่อบริษัทเห็นว่าข้อความตรงกัน ก็ออกใบรับของคลังสินค้า และใบประทวนสินค้าให้จำเลยที่ 1 ไป ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2495 จำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ในสังกะสีรายนี้ให้แก่พระยาพิพัฒน์ธนากร และหม่อมเจ้าหญิง บรรเจิด วรรณวรางค์ โดยสลักหลังใบรับของคลังสินค้าและใบประทวนสินค้าให้แก่พระยาพิพัฒน์ธนากร และหม่อมเจ้าหญิงบรรเจิด วรรณวรางค์ ไปเป็นเงิน 140,000 บาท แต่สังกะสีจำนวนนี้ทั้งหมดคงฝากอยู่ในคลังสินค้าของบริษัทตามเดิม ต่อมาจำเลยที่ 2 โดยมิได้รับอนุมัติจากบริษัท ได้ปล่อยสังกะสีรายนี้ให้จำเลยที่ 1 ไปเพื่อขายเอาเงินมาชำระหนี้ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 2 มา 10 ปีกว่า ได้มาขอร้องต่อจำเลยที่ 2 ให้ปล่อยสังกะสีรายนี้ จำเลยที่ 2 จึงปล่อยไป และจำเลยทั้งสองได้ช่วยกันขนสังกะสีรายนี้ไป จำเลยที่ 1 ได้เอาสังกะสีรายนี้ไปขายและส่งไปที่จังหวัดสงขลา เพื่อทำกระป๋องเพราะต้องการเงินไปใช้ในการค้า
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของบริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัดได้รับเงินเดือนเดือนละ 400 บาทเศษ มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์พัสดุที่มีผู้นำมาฝากไว้ในโกดัง 2 ทั้งรับไว้และจ่ายให้ผู้ฝากรับไปจำเลยมีหน้าที่เปิดปิดประตูโกดังและเป็นผู้ถือกุญแจโกดังด้วยถือได้ว่า บริษัทได้มอบหมายการครอบครองทรัพย์ที่มีผู้นำมาฝากไว้ในโกดังนั้น ให้จำเลยดูแลจัดการแทน การที่จำเลยที่ 2 เอาสังกะสีรายนี้ให้จำเลยที่ 1 ไปขายโดยบริษัทคลังสินค้าแม่น้ำ จำกัดมิได้อนุมัติ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 319 ส่วนจำเลยที่ 1 ก็มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314 ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 245/2495 ระหว่างพนักงานอัยการกรมอัยการ โจทก์ นายพิตรพูน เศรษฐบุตร กับพวก จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา ต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องก็ต้องยกฟ้องโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 และคำพิพากษาฎีกาที่ 324/2491 ระหว่าง อัยการลำปางโจทก์ นายแตน ดวงแก้ว จำเลย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น ไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น
จึงพร้อมกันพิพากษาให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป