คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ่อแม่ฝ่ายชายทำสัญญายกที่นา 10 ไร่ โดยแบ่งออกจากนาแปลงใหญ่มีโฉนดแล้วแต่ยังไม่ได้มอบหมายแบ่งแยกออกเป็นส่วนสัดให้เป็นของหมั้นแก่หญิง ต่อมาหญิงชายได้แต่งงานอยู่กินด้วยกันที่บ้านชายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นาที่ยกให้ก็ยังไม่ได้มอบหมายให้กันอย่างแท้จริง ดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่านา 10 ไร่นี้เป็นของหมั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 หญิงจะฟ้องเรียกนา 10 ไร่นี้ในฐานเป็นของหมั้นไม่ได้ หากจะถือว่าเป็นสัญญาให้ที่มีการตอบแทน จุดประสงค์ของผู้ให้ก็เพื่อให้คู่สมรสได้ใช้สร้อยทำกินด้วยกันเป็นสำคัญ เมื่อหญิงกับชายไม่ได้สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และบัดนี้ยังแยกไม่ได้อยู่กินด้วยกันอีก ก็นับว่าไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ให้ จึงไม่มีเหตุที่หญิงจะเรียกร้องเอานานี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1, 2 ได้สู่ขอโจทก์เพื่อเป็นคู่สมรสกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยยกนาให้กับโจทก์เป็นของหมั้น เป็นเนื้อที่นา 10 ไร่ ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 3 ได้แต่งงานกันตามประเพณี แล้วโจทก์ไปทำมาหากินที่บ้านจำเลย ได้ปกครองทำกินในที่นา 10 ไร่ ของหมั้นนี้ตลอดมา บัดนี้จำเลยทั้งสามขับไล่โจทก์ โจทก์จึงขอให้จำเลยแบ่งแยกที่นา 10 ไร่ ซึ่งเป็นของหมั้นของโจทก์ให้โจทก์

ศาลชั้นต้นฟังว่า สัญญาตามฟ้องเป็นสัญญาต่างตอบแทน ไม่เป็นสัญญาจะให้ตามมาตรา 525 หรือ 526 โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาได้ จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2 แบ่งแยกนาให้โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยที่ 1, 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จะถือว่าสัญญาตามฟ้องเป็นสัญญาที่มีการตอบแทนกัน กรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 หรือ 526 ก็ดี แต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน คือต้องมีการสมรส ซึ่งหมายความว่า การสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 3 มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ถือว่ายังมิได้สมรสกันตามกฎหมายโจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอานาตามฟ้องได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ว่ายกให้ 10 ไร่ ก็ยังหาได้มอบหมายแบ่งแยกให้เป็นส่วนสัดอย่างใดไม่ การครอบครองก็ได้ความเพียงว่า เมื่อโจทก์ไปอยู่บ้านจำเลย โจทก์และจำเลยทั้งสามได้ทำนารายนี้รวมกันไปทั้งสามแปลง จึงยังถือไม่ได้ว่า นา 10 ไร่รายนี้เป็นของหมั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 เพราะยังไม่ได้มอบหมายให้กันอย่างแท้จริง ดังนั้นโจทก์จะฟ้องเรียกนา10 ไร่รายนี้ในฐานเป็นของหมั้นย่อมไม่ได้ และอีกประการหนึ่งหากแปลสัญญานี้ว่า เป็นสัญญายกให้ที่มีการตอบแทนดังศาลชั้นต้นกล่าวมา จุดประสงค์ของการให้ ก็เพื่อให้คู่สมรสได้ใช้ส้อยทำกินด้วยกันเป็นสำคัญ แต่โจทก์กับจำเลยที่ 3 นอกจากว่าไม่ได้สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว บัดนี้ยังแตกแยกไม่ได้อยู่ด้วยกันอีกนับว่าไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ให้ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะเรียกร้องเอาที่นาตามฟ้องได้ดุจกัน

จึงพิพากษายืน

Share