แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้จ้างนำไม้มาจ้างเลื่อยเป็นคราว ๆ ตามราคาค่าจ้างที่ตกลงกันแล้วผู้จ้างก็รับไม้ไปเป็นคราว ๆ และชำระค่าจ้างเลื่อยให้เป็นคราว ๆ การชำระค่าจ้างเลื่อยไม้นี้ก็หาได้ชำระตามจำนวนไม้ที่รับไปแต่ละคราวนั้นไม่ ดังนี้ต้องถือว่าหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้รับจ้างเกี่ยวด้วยไม้ที่อยู่ในครอบครองของผู้รับจ้าง ก็คือหนี้ค่าจ้างเลื่อยไม้ที่ผู้จ้างค้างชำระอยู่ทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อผู้รับจ้างใช้สิทธิยึดหน่วงไม้ที่ผู้จ้างนำมาจ้างเลื่อยไว้ จำนวนหนึ่งก็ย่อมต้องถือว่ามีสิทธิยึดหน่วงไว้สำหรับค่าจ้างเลื่อยไม้รายก่อน ๆ ที่ผู้รับจ้างรับไปแล้วด้วยไม่ใช่มีสิทธิยึดหน่วงเฉพาะค่าจ้างเลื่อยไม้จำนวนที่ยึดไว้เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่านายยกเส่งได้ทำซุงไม้ยางมาจ้างโจทก์เลื่อยเป็นไม้กระดาน และไม้เหลี่ยมจำนวนไม้ ๑๗๐ แพ คิดเป็นค่าจ้างทั้งหมด ๔๘,๕๖๖ บาท ๖๐ สตางค์ นายยกเส่งได้ชำระเงินค่าจ้างเลื่อยนี้บ้างแล้วเป็นเงิน ๑๓๖๐๐ บาท และรับไม้ไปแล้วบางส่วน คงค้างค่าจ้างอยู่ ๓๔๙๖๖ บาท ๔๐ สตางค์ โดยโจทก์ยึดหน่วงไม้ที่นายยกเส่งมาจ้างเลื่อยนั้นไว้เป็นจำนวน ๖๐ ตัน จนกว่านายยกเส่งจะชำระค่าจ้างครบ ครั้นวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๙๐ จำเลยอ้างว่าไม้ที่ยึดหน่วงไว้นั้นเป็นจำเลย ๕๐ ต้น จำเลยขอรับไม้ ๕๐ ต้นนี้ไป โดยทำหนังสือให้ไว้กับโจทก์ ดังปรากฎตามสำเนาท้ายฟ้อง รับรองว่าถ้าปรากฎว่าจำเลยจะต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าจ้าง หากจะนำไม้ไปแล้วจำเลยก็จะรับผิดชำระให้บัดนี้จำเลยไม่ยอมชำระค่าจ้างเลื่อยไม้คิดตามส่วนที่จำเลยรับไปจำนวน ๕๐ ต้น เป็นเงิน ๒๙๑๔๕ บาท ๖๓ สตางค์ จึงขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยปฏิเสธว่า นายยกเส่งไม่ได้ค้างชำระค่าจ้างเลื่อยไม้ และโจทก์ยังยึดไม้ไว้อีก ๑๐ ต้น ซึ่งเกินเงินค่าจ้างเลื่อยไม้จำนวน ๖๐ ต้น ในที่สุดแม้จำเลยจะต้องรับผิดก็ควรรับผิดแต่เพียงค่าจ้างเลื่อยไม้ ๕๐ ต้นที่จำเลยรับเอาไปคิดได้ ๔๕๐๐ บาทเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะเต็มตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงินที่ให้จำเลยใช้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒๙๑๓๘ บาท ๖๖ สตางค์ นอกจากนั้นคงยืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่านายยกเส่งได้ค้างชำระค่าจ้างเลื่อยไม้อยู่จริงคดีคงมีปัญหาว่า โจทก์จะมีสิทธิยึดหน่วงเฉพาะค่าจ้างเลื่อยไม้ ๕๐ ต้นที่จำเลยรับไป หรือจะมีสิทธิยึดหน่วงสำหรับค่าจ้างเลื่อยไม้รายนี้ ก่อน ๆ ที่นายยกเส่งได้รับไปแล้วด้วยนั้น ศาลฎีกาได้ปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่าวิธีปฏิบัติระหว่างนายยกเส่งกับโจทก์ที่ปรากฎในคดีนี้ไม่พึงแบ่งแยกได้ว่าค่าจ้างเลื่อยจำนวนไหนเกี่ยวกับไม้จำนวนใด เพราะปรากฎว่านายยกเส่งนำไม้มาจ้างเลื่อยเป็นคราว ๆ ไปตามราคาค่าจ้างเลื่อยที่ตกลงกัน แล้วนายยกเส่งก็รับไม้ไปเป็นคราว ๆ และชำระค่าจ้างเลื่อยให้เป็นคราว ๆ การชำระค่าจ้างเลื่อยไม้นี้ก็หาได้ชำระตามจำนวนไม้ที่รับไปแต่ละคราวนั้นไม่ดังนี้จึงถือได้ว่าหนี้อันเป็นคุณประโยชน์ แก่โจทก์ด้วยไม้ที่อยู่ในครอบครองของโจทก์ก็คือ หนี้ค่าจ้างเลื่อยไม้ที่นายยกเส่งค้างชำระอยู่ทั้งหมดนั้นเอง การที่จำเลยทำสัญญาเข้ารับผิดกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. ๒๕ นั้นจำเลยก็ทราบดีแล้วว่า นายยกเส่งค้างชำระค่าเลื่อยไม้อยู่เป็นจำนวนเกินกว่าค่างจ้างเลื่อยไม้ ๕๐ ต้น ฉนั้นจำเลยจะเถียงว่า ตนควรรับผิดเฉพาะค่าจ้างเลื่อยไม้จำนวน ๕๐ ต้นที่จำเลยรับไปหาได้ไม่ ที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างเลื่อยไม้ที่นายยกเส่งค้างชำระโดยแบ่งส่วนเฉลี่ย ๕ ใน ๖ คือคิดจากจำนวนไม้ ๕๐ ต้นที่จำเลยรับไปจากไม้ที่เหลืออยู่ ๖๐ ต้น อันเป็นจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน