คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2505/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า โจทก์ประพฤติตนเป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่กิจการโรงพยาบาลของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอันเป็นเหตุให้เลิกจ้างโจทก์ได้ โดยยกเอาการรักษาณ. ผู้ป่วยของโจทก์มาเป็นตัวอย่างว่าโจทก์ประพฤติตนเป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่จำเลยอย่างไรบ้าง เป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแล้ว ส่วนที่กล่าวในคำให้การว่ายังมีคนไข้อีกหลายรายที่โจทก์กระทำในทำนองเดียวกันก็เป็นรายละเอียดที่จำเลยชอบที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ และเมื่อจำเลยนำพยานต่าง ๆ เข้าสืบถึงความประพฤติของโจทก์ที่เป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่จำเลยแล้ว ศาลย่อมนำมาวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติตนเป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่จำเลยได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกคำให้การ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งแพทย์ประจำตั้งแต่วันที่ 1มีนาคม 2536 ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 60,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าอันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กับโจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 12 วัน และจำเลยค้างจ่ายค่าล่วงเวลาโจทก์วันละ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2536 ถึงเดือนกรกฎาคม 2537 เป็นเวลา 344 ชั่วโมง จำนวน 94,600 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค้าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าล่วงเวลารวม 418,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับเงินเพิ่มอีกอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีทุกระยะ 7 วันนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยตำแหน่งแพทย์ศัลยกรรมได้รับเงินเดือนเดือนละ 20,000 บาท มิใช่เดือนละ 60,000 บาท โจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน โดยให้โจทก์เข้าทำงานก่อนเวลาทำงานวันละ 1 ชั่วโมง แทนการทำงานวันเสาร์ซึ่งจะต้องทำอีกครึ่งวัน แต่จำเลยก็จ่ายล่วงเวลาให้แก่โจทก์ชั่วโมงละ 100 บาทตลอดมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา โจทก์ประพฤติตนเป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่จำเลยไม่มีจรรยาบรรณแพทย์ โดยโจทก์กลั่นแกล้งคนไข้และเลินเล่อจนทำให้คนไข้บางรายถึงแก่ความตาย ซึ่งจำเลยได้ตักเตือนโจทก์หลายครั้งแล้วอันเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเสียชื่อเสียง เป็นความผิดอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท กับค่าวิชาชีพซึ่งได้แก่ค่าผ่าตัด ค่าตรวจคนไข้ โดยจำเลยประกันว่าโจทก์จะได้รับค่าวิชาชีพไม่ต่ำกว่าเดือนละ 40,000 บาท หากเดือนใดค่าวิชาชีพไม่ถึง 40,000 บาท จำเลยจะจ่ายให้โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท ค่าวิชาชีพดังกล่าวถือว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานจึงเป็นค่าจ้าง กรณีฟังได้ว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 60,000 บาท โจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหาย และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม โจทก์ตกลงกับจำเลยว่าเวลาทำงานปกติของโจทก์คือระหว่างเวลา 7 ถึง 17 นาฬิกา เวลาทำงานระหว่างเวลา 7 ถึง 8 นาฬิกา จึงมิใช่การทำงานล่วงเวลา โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยแผนกศัลยกรรมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2536 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 60,000 บาท โจทก์ทำงานระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 7 ถึง 17 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ตามคำให้การจำเลยมิได้อ้างเหตุว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นการกำหนดประเด็นนอกคำให้การไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้เรื่องนี้จำเลยไม่ได้ให้การไว้และไม่มีประเด็นก็ตาม แต่จำเลยได้ให้การว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และศาลแรงงานกลางได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ทั้งวินิจฉัยว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย อันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ตามฟ้องเช่นเดียวกับประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่อยู่แล้ว ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้นจึงไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำให้การของจำเลยในส่วนที่อ้างว่า โจทก์ประพฤติตนเป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่จำเลยนั้น จำเลยกล่าวถึงนายณัฐวุฒิ มากุล คนไข้เพียงรายเดียวและกล่าวว่ายังมีคนไข้อีกหลายรายที่โจทก์กระทำในทำนองดังกล่าว คนไข้บางรายเสียชีวิตเพราะการปฏิบัติงานที่ละเลยและเลินเล่อของโจทก์ เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 และชั้นพิจารณาจำเลยกลับนำสืบถึงการรักษาพยาบาลของโจทก์ต่อผู้ป่วยรายอื่น ๆ อีก 3 ราย โดยที่ไม่มีปรากฏอยู่ในคำให้การของจำเลย ทั้งศาลแรงงานกลางก็นำพยานดังกล่าวมาวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกคำให้การเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า ที่จำเลยให้การว่าโจทก์ประพฤติตนเป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่จำเลย โดยยกเอาการรักษาผู้ป่วยของโจทก์รายนายณัฐวุฒิ มากุลมาเป็นตัวอย่างว่าโจทก์ประพฤติตนเป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่จำเลยอย่างไรบ้างเช่นนี้ จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแล้ว ส่วนที่กล่าวในคำให้การว่า ยังมีคนไข้อีกหลายรายที่โจทก์กระทำในทำนองเดียวกันก็เป็นรายละเอียดที่จำเลยชอบที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ และเมื่อจำเลยนำพยานต่าง ๆ เข้าสืบถึงความประพฤติของโจทก์ที่จำเลยอ้างว่าเป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่จำเลยแล้ว ศาลย่อมนำพยานดังกล่าวมาวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติตนเป็นที่เสียหายและเสื่อมเสียแก่จำเลยตามที่จำเลยให้การได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกคำให้การแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาที่ขาดจำนวน 94,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share