แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วยกับความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็อนุญาตให้รับชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องกล่าวแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งอนุญาต เพราะข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยปรากฏอยู่ในความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว และเป็นการสั่งตามมาตรา 106 แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่ต้องนำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 141(4) ประกอบด้วยมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แม้จะมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แต่มีข้อตกลงว่าวงเงินกู้ไม่เกิน 10,000,000บาท ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 17.5 ต่อปี เมื่อเงินกู้ที่ค้างชำระเพียง 5,259,980.74 บาท เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงไม่เกินร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามข้อตกลงเท่านั้น ลูกหนี้โอนลอยพันธบัตรรัฐบาลแล้ว ส. นำไปวางเป็นประกันในการกู้เงินของบริษัท บ.ต่อเจ้าหนี้ โดยกรรมการบริษัทลูกหนี้มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย และมิได้จดทะเบียนภาระผูกพันกับธนาคารแห่งประเทศไทย เจ้าหนี้จึงไม่มีมูลหนี้ใดที่จะกล่าวอ้างได้ต้องคืนพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าวให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน7,273,367.09 บาท และค่าโอนพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 50,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 98,907,146.76 บาท รวมเป็นเงินที่ขอรับชำระจำนวน 106,038,830.70 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้วไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่าหนี้อันดับที่ 1ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 6,866,004.18 บาท เจ้าหนี้ขอมา7,273,367.09 บาท ขอเกินไป 407,362.91 บาท ส่วนหนี้อันดับ 2ค่าโอนพันธบัตรรัฐบาลนั้น เจ้าหนี้ไม่มีมูลหนี้ใดจะกล่าวอ้างได้จึงต้องคืนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 40 ฉบับ ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน6,866,004.18 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130(8)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสียและให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในอันดับที่ 2 เสียทั้งสิ้นตามมาตรา 107(1)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับที่ 1 และให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในอันดับที่ 2 เสีย ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาประการแรกตามฎีกาของเจ้าหนี้ที่ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องขอรับชำระหนี้ซึ่งศาลชั้นต้นมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 106 บัญญัติว่า คำขอรับชำระหนี้รายใด ถ้าลูกหนี้ เจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่โต้แย้ง ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่นซึ่งก็ปรากฏว่า ในการตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ ดังนั้น เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วยกับความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็อนุญาตให้รับชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องกล่าวแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งอนุญาต เพราะข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยปรากฏอยู่ในความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว และก็เป็นการสั่งตามมาตรา 106 ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่จำต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 141(4) ประกอบด้วย มาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ปัญหาประการที่สอง การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คำนวณดอกเบี้ยของหนี้อันดับที่ 1ในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นั้นชอบหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากหักทอนบัญชีกันแล้ว คงเหลือยอดหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระเป็นเงิน 5,259,980.74 บาท และตามการ์ดบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.73 มีข้อความกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากลูกหนี้ไว้สองวงเงิน คือในวงเงินกู้ไม่เกิน 10,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี และถ้าเกิน 10,000,000 บาท ขึ้นไป คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งการคิดดอกเบี้ยนั้นต้องไม่เกินอัตราที่ตกลงกัน แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้จากลูกค้าไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีก็ตาม เจ้าหนี้คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ค้างชำระได้เพียงอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามข้อตกลงเท่านั้น ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของเจ้าหนี้ที่ว่า เจ้าหนี้ควรจะได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับ 2 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทบ้านและที่ดินไทย (1979) จำกัด กู้เงินจากธนาคารต่างประเทศ แล้วให้เจ้าหนี้ค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าวโดยโอนลอยพันธบัตรรัฐบาลของลูกหนี้จำนวน 50,000,000 บาทวางไว้ เป็นประกันต่อเจ้าหนี้โดยนายสุธี นพคุณ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทลูกหนี้ และเป็นกรรมการบริษัทบ้านและที่ดินไทย (1979) จำกัดเป็นผู้ค้ำประกันต่อเจ้าหนี้ การที่นายสุธีนำพันธบัตรรัฐบาลของลูกหนี้ไปวางไว้เป็นประกันนั้น กรรมการอื่นของลูกหนี้มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย แต่ลงชื่อโอนลอยในพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าวไว้เพื่อดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของลูกหนี้ เพื่อสะดวกในการขายคืนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในกรณีที่ลูกหนี้ประสบภาวะขาดเงิน เจ้าหนี้รับพันธบัตรดังกล่าวไว้โดยมิได้จัดให้มีการจดทะเบียนภาระผูกพันกับธนาคารแห่งประเทศไทย เจ้าหนี้จึงไม่มีมูลหนี้ใดจะกล่าวอ้างได้จึงต้องคืนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 40 ฉบับให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้
พิพากษายืน