แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยหลับยาม แต่เป็นการกระทำผิดครั้งแรกและมิได้ทำให้ทรัพย์สินของนายจ้างเสียหายยามคนอื่นที่หลับยามเช่นเดียวกันก็ถูกลงโทษเพียงตัดค่าแรงงานและมีหนังสือตักเตือนเท่านั้น การหลับยามจึงไม่เป็นกรณีร้ายแรงที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
แม้ลูกจ้างเคยกระทำผิดวินัยตามระเบียบของนายจ้างและถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาครั้งหนึ่งแล้วมากระทำผิดวินัยข้อเดียวกันนั้นอีก แต่มิใช่เรื่องเดียวกันกล่าวคือความผิดครั้งก่อนเป็นเรื่องปล่อยให้บุคคลนำอาหารเข้าไปรับประทานในโรงงานครั้งนี้เป็นเรื่องหลับยามดังนี้นายจ้างยังหามีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินประกัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยแถลงต่อสู้คดีว่า โจทก์กระทำผิดข้อบังคับของจำเลย จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โจทก์กระทำผิดอีก จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยหลับยาม นายวรชัย ลัดหลวง พยานจำเลย หัวหน้าแผนกบุคคลของจำเลยเบิกความว่าโจทก์หลับยามเป็นครั้งแรก ผู้ที่ไม่เคยกระทำผิดมาก่อนและหลับยามเช่นโจทก์หากพบเห็นเข้าครั้งแรกจำเลยจะยังไม่เลิกจ้างแต่จะลงโทษอย่างอื่น และตักเตือนเป็นหนังสือ ในคืนนั้นนอกจากโจทก์แล้วมียามอื่นอีก 3 คนที่หลับยาม สำหรับยามอื่นจำเลยได้ลงโทษตัดค่าแรงคนละ 7 วันและมีหนังสือตักเตือนไป เหตุที่ไม่เลิกจ้างยามอื่นเพราะเพิ่งทำผิดเป็นครั้งแรกส่วนที่เลิกจ้างโจทก์นั้นเพราะโจทก์เคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับมาแล้วครั้งหนึ่ง เห็นว่าตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเรื่อง วินัย โทษทางวินัยและความผิดสถานหนัก ในข้อ 2 โทษทางวินัย การลงโทษแบ่งเป็นหลายสถาน มีตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษณ์อักษร ตัดค่าแรง พักงานไม่เกิน 7 วัน เลิกจ้าง ปลดออกหรือไล่ออก ตามลำดับ สำหรับโทษถึงปลดออกหรือไล่ออก โทษเฉพาะผู้กระทำผิดสถานหนักตามระเบียบฯ ข้อ 3 เท่านั้น เห็นว่ากรณีโจทก์นี้มีหน้าที่เป็นยามรักษาความปลอดภัยมีความสำคัญ แต่กระทำผิดครั้งแรก และมิได้ทำให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหายอย่างใดในคืนนั้นยามอื่นหลับยามเช่นโจทก์ก็เพียงถูกตัดค่าแรงและมีหนังสือตักเตือนเท่านั้น ไม่มีการเลิกจ้าง กรณีที่โจทก์หลับยามจึงไม่เป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยไม่ต้องตักเตือนก็เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย อุทธรณ์จำเลยต่อไปที่ว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยมาแล้วครั้งหนึ่ง และจำเลยได้เคยตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ก็เป็นเรื่องอื่นคือปล่อยให้บุคคลนำอาหารเข้าไปรับประทานในโรงงาน อนึ่ง ถึงหากจะฟังว่าเป็นความผิดวินัยข้อเดียวกันคือ ข้อ 1.3 ที่ว่า “ต้องขวนขวายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุตสาหะและรวดเร็วให้เกิดผลดีและความก้าวหน้าแก่บริษัทฯ และลูกจ้างของบริษัทฯ ทั้งต้องเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ” ก็ตาม แต่ก็มิใช่เรื่องเดียวกัน จะนำมาปรับเข้าด้วยกันหาได้ไม่
พิพากษายืน