แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนี้ตามคำพิพากษาซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ถือได้ว่าเป็นหนี้ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน อันโจทก์อาจนำมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ แต่หนี้ดังกล่าวอาจถูกกลับหรือแก้โดยศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ ข้อเท็จจริงยังไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จึงยังไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 14
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย จำเลยให้การว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องยังไม่แน่นอนเพราะคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ศาลสูงอาจมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 14ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่าโจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษาแม้ว่าคำพิพากษาในคดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดโดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่คู่ความยังต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสียในที่สุดหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นหนี้ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว แต่อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่ามูลหนี้ที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีนี้ คือหนี้ที่มีอยู่ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ค่าซื้อเพชรที่ยังค้างชำระฉะนั้น การที่จะฟังว่าจำเลยเป็นหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้หรือไม่ก็ต้องอาศัยผลของคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวเป็นหลักซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามฟ้องคดีนี้หรือไม่ เพราะคำพิพากษาที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นอาจจะถูกกลับหรือแก้โดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ จากพฤติการณ์และข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเหตุที่ยังไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 14 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ”