คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1249/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และบิดาจำเลยเป็นทายาทของเจ้ามรดกตามมาตรา 1629(4)ลำดับเดียวกัน บิดาจำเลยยังมีชีวิตอยู่ ตัวจำเลยจึงหาใช่เป็นทายาทของเจ้ามรดกไม่จึงไม่มีสิทธิอ้างอายุความมรดก 1 ปียกขึ้นต่อสู้แก่โจทก์ผู้เป็นทายาทของเจ้ามรดกตามมาตรา 1755 ได้
ในกรณีเช่นนี้จำเลยจะรับมรดกเจ้ามรดกแทนที่บิดาจำเลยได้แต่เมื่อบิดาได้ถึงแก่ความตายแล้ว หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดก มิฉะนั้นจะเข้ามารับมรดกแทนที่บิดาไม่ได้

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกนางจ้อยผู้เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์และนายทองจำเลย เมื่อนายทองให้การแล้วโจทก์จึงขอเรียกจำเลยที่ 2-3 เข้ามาเป็นจำเลยด้วย ในวันชี้สองสถานคู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยเฉพาะที่ดินหมายเลข 1 ซึ่งเถียงสิทธิกันระหว่างโจทก์กับนายทำจำเลยที่ 2 เท่านั้น โดยโจทก์รับว่าตั้งแต่นางจ้อยตาย 3-4 ปีมานี้ โจทก์มิได้ปกครองที่ดินรายนี้แต่ถือว่าโจทก์ยังมีสิทธิได้รับมรดกอยู่ตามกฎหมาย

จำเลยที่ 2 รับว่า ที่ดินพิพาทจำเลยได้ครอบครองมาโดยมิได้แก้ทะเบียนโฉนด ๆ ยังคงมีชื่อนางจ้อยเป็นเจ้าของอยู่

โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายทอง จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ทายาทที่จะรับมรดก นางจ้อย พิพากษาให้ที่พิพาทได้แก่โจทก์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ทายาทโดยธรรมนั้นอย่างหนึ่ง บัญญัติไว้ในมาตรา 1629 แต่ผู้รับมรดกแทนกันนั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 1639

ในคดีนี้โจทก์และนายทองจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของนางจ้อยตามมาตรา 1629(4) ลำดับเดียวกัน แต่จำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายทองซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของนายทอง หาเป็นทายาทของนางจ้อยไม่ และไม่ใช่เป็นผู้รับมรดกแทนที่เพราะเหตุว่า

(1) จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เป็นผู้สืบสันดานของนางจ้อยเจ้ามรดกแต่เป็นผู้สืบสันดานของนายทองต่างหาก

(2) นายทองยังมีชีวิตอยู่ และมิได้ถูกจำกัดมิให้รับมรดกจำเลยที่ 2 จะเข้ามารับมรดกนางจ้อยแทนที่นายทองไม่ได้

ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ทายาทนางจ้อยก็ไม่มีสิทธิจะอ้างอายุความมรดก 1 ปีต่อสู้กับโจทก์ผู้เป็นทายาทได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share