คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1769/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายทำพินัยกรรม (นาซาร์) ปรารถนาจะให้ทรัพย์แก่โจทก์เมื่อตาย และโจทก์ยังไม่ได้ทรัพย์นั้นโดยการครอบครอง ทรัพย์นั้นยังคงเป็นของผู้ตายอยู่จนกระทั่งตาย และเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งปันตามกฎหมายอิสลาม (โจทก์จำเลยและผู้ตายเป็นอิสลามศาสนิก และเป็นคดีของศาลจังหวัดปัตตานี) เมื่อทรัพย์นั้นเป็นมรดกดะโต๊ะยุติธรรมต้องใช้กฎหมายอิสลามมาปรับแก่คดี
เจ้ามรดกทำหนังสือนาซาร์ไว้ หนังสือนี้เป็นพินัยกรรมหรือไม่ การแบ่งมรดกจะต้องแบ่งตามหนังสือนาซาร์หรือจะตกได้แก่ทายาท เป็นเรื่องของกฎหมายอิสลาม ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม
เมื่อดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยว่า หนังสือนาซาร์นี้เป็นพินัยกรรมมีผลเมื่อผู้ทำยกให้ตายแล้ว แต่มิใช่พินัยกรรมธรรมดาที่เรียกว่า “วาซียะ” เพราะผลนั้นย้อนหลังไปถึงวันที่กำหนด คือ ก่อนเจ็บตาย 3 วัน ซึ่งเป็นอำนาจของพินัยกรรมชนิดนี้ตามกฎหมายอิสลามก็ต้องเป็นไปตามนั้น และคำวินิจฉัยย่อมเด็ดขาด ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นการยกให้โดยมองผลย้อนหลังไม่ได้ เพราะหนังสือนี้มีผลเมื่อผู้ทำตาย จึงไม่เป็นการยกให้

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนนางแตเซาะเจ้ามรดกตาย ๗ เดือน นางแตเซาะได้ทำหนังสือนาซาร์ยกทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ โดยทำตามแบบพิธีของศาสนาอิสลาม ใจความในหนังสือส่วนสำคัญมีว่า ข้า ฯ นาซาร์ทรัพย์ ฯลฯ ให้แก่ ฯลฯ ก่อนข้าเจ็บตาย ๓ วัน
ดะโต๊ะยุติธรรมชี้ขาดในข้อกฎหมายตามหลักกฎหมายอิสลามเกี่ยวกับลักษณะมรดกว่า การกล่าววาจานาซาร์สำคัญยิ่งกว่าหนังสือ แม้นางแตเซาะและพยานในการนาซาร์จะไม่ได้ลงนามในหนังสือนาซาร์ ก็มีผลให้ต้องปฏิบัติตามคำปฏิญญานั้น และตามหลักกฎหมายอิสลาม นาซาร์จะมีผลเมื่อผู้ทำยกให้ตายแล้ว แต่นาซาร์ก็มิใช่พินัยกรรมธรรมดาซึ่งเรียกว่า วาซียะ เพราะทรัพย์นั้นได้แก่ผู้รับย้อนไปถึงวันที่ผู้ยกให้กล่าวไว้ในการกล่าววาจา ผู้รับทรัพย์จึงได้รับทรัพย์โดยไม่ต้องแบ่งให้ทายาท ทายาทโดยธรรมหมดสิทธิที่จะได้รับมรดก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทรัพย์พิพาทตกเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามกฎหมายอิสลาม หนังสือนาซาร์ไม่ใช่พินัยกรรมธรรมดา เพราะทรัพย์ที่ยกให้ได้แก่ผู้รับย้อนไปถึงก่อนเจ็บตาย ๓ วัน จึงเป็นหนังสือที่ผู้ตายยกทรัพย์ให้แก่โจทก์ตั้งแต่ผู้ตายยังไม่ตาย จึงไม่ใช่เรื่องมรดก ต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องให้ หาใช่กฎหมายอิสลามไม่ แต่จากคำบรรยายฟ้องและคำให้การถือได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองทรัพย์พิพาทจากผู้ตายแล้ว ทรัพย์จึงเป็นของโจทก์ พิพากษายืน
ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะฟังว่าโจทก์ได้ครอบครองทรัพย์ตั้งแต่ผู้ตายยกให้ นางแตเซาะทำพินัยกรรมปรารถนาจะให้ทรัพย์เมื่อตาย โจทก์จึงยังไม่ได้ทรัพย์พิพาทโดยการครอบครอง ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นของนางแตเซาะอยู่จนกระทั้งตายและเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งปันตามกฎหมายอิสลาม
เมื่อทรัพย์พิพาทเป็นมรดก ดะโต๊ะยุติธรรมต้องใช้กฎหมายอิสลามมาปรับแก่คดี หนังสือนาซาร์นี้เป็นพินัยกรรมหรือไม่ การแบ่งมรดกจะต้องแบ่งตามหนังสือนาซาร์หรือจะตกได้แก่ทายาท เป็นเรื่องของกฎหมายอิสลาม เมื่อดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยว่าหนังสือนาซาร์นี้เป็นพินัยกรรม มีผลเมื่อผู้ทำยกให้ตายแล้ว แต่มิใช่พินัยกรรมธรรมดาที่เรียกว่า “วาซียะ” เพราะผลนั้นย้อนหลังไปถึงวันที่กำหนด คือ ก่อนเจ็บตาย ๓ วัน ซึ่งเป็นอำนาจของพินัยกรรมชนิดนี้ตามกฎหมายอิสลาม ก็ต้องเป็นไปตามนั้นและคำวินิจฉัยนี้ย่อมเด็ดขาด ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นการยกให้ โดยมองผลย้อนหลังไม่ได้ เพราะหนังสือนี้มีผลเมื่อผู้ทำตาย จึงไม่เป็นการยกให้ แต่ศาลฎีกาเห็นพ้องในผลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา จึงพิพากษายืน

Share