แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้โจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 แต่มาชำระวันที่ 8 สิงหาคม 2540 จำเลยทั้งสองย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องรับผิดในดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดแก่โจทก์ ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 320, 321 และ 326 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540
กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนจำเลยที่ 1 และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่มิใช่เรื่องการชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยเนื่องจากจำเลยที่ 1 กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง เพราะการที่จำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังระงับการดำเนินกิจการนั้น จำเลยที่ 1 ยังสามารถที่จะฟื้นฟูกิจการและอาจดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคตหากแก้ไขฐานะและการดำเนินงานสำเร็จตามแนวนโยบายของทางการ ทั้งการระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหนี้
จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้เพราะจำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการอันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 จำเลยที่ 1 ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 4 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ส่งมอบให้โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัล ฉบับที่ 1 จำนวน 150,000,000 บาท ฉบับที่ 2 จำนวนเงิน 55,933,127.65 บาท ฉบับที่ 3 จำนวนเงิน 22,340,647.39 บาท ฉบับที่ 4 จำนวนเงิน 66,626,857.31 บาท รวมเป็นเงิน 294,900,632.39 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12.75 บาท ต่อปี กำหนดใช้เงินวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ทั้งสี่ฉบับ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสี่ฉบับถึงกำหนดโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเรียกให้จำเลยใช้เงินตามตั๋วในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 แต่จำเลยที่ 2 ออกเช็คชำระเงินให้โจทก์ในวันที่ 8 สิงหาคม 2540 เป็นต้นเงินตามตั๋ว 294,900,632.35 บาท และคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี จากต้นเงินทั้งสี่ฉบับให้ถึงเพียงวันที่ 5 สิงหาคม 2540 เป็นดอกเบี้ยหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นเงิน 8,675,400.22 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 303,576,032.57 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยให้โจทก์จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับดอกเบี้ยในวันที่ 6 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 เป็นจำนวน 3 วัน คิดเป็นดอกเบี้ยหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจำนวน 262,683.74 บาท ซึ่งโจทก์อาจนำเอาเงินจำนวนดังกล่าวออกหาผลประโยชน์ได้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยกับจำเลยทั้งสองจากต้นเงินจำนวน 262,683.74 บาท อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 28,499.39 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 291,183.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 262,683.74 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งระงับกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่ให้จำเลยที่ 1 จ่ายคืนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน และบัตรฝากเงิน แม้โจทก์จะยื่นตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามตั๋ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่สามารถใช้เงินตามตั๋วได้ การชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการพ้นวิสัย จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี จากต้นเงิน 294,900,632.35 บาท นับแต่วันที่ 6 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 เป็นเวลา 3 วัน และไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 262,683.78 บาท นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (6) และหากโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป โจทก์มีสิทธิคิดได้เพียงอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 968 (2) ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 เท่านั้น ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 และโจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ก่อนจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รับประกันจำนวนดอกเบี้ยทั้งสิ้นตามอัตราหน้าตั๋วสัญญาใช้เงินคำนวณตามอายุตั๋วคือรับประกันอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12.75 ต่อปี โดยคำนวณถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2540 เท่านั้น ตามที่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ การสั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 2 เพื่อชำระเงินให้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นการชำระหนี้ตามภาระหนี้สินที่จำเลยที่ 1 มีความผูกพันจะต้องชำระคืนให้จำเลยที่ 2 ต่อไป ทั้งโจทก์ไม่เคยเรียกให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาททั้งสี่ฉบับในฐานะผู้รับอาวัล การออกเช็คชำระเงินของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำไปในขั้นตอนของการที่จำเลยที่ 1 จะดำเนินการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นการที่จำเลยที่ 2 ชำระให้โจทก์ในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วไม่ แต่หากเป็นการที่จำเลยที่ 1 ส่งคำขอมาให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกเงินชำระหนี้ให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน ตามข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ในการคิดดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงิน โจทก์ยื่นตั๋วให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ถึงวันดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในกำหนดและตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดกับจำเลยทั้งสอง และไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (6) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 262,683.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์จำนวน 4 ฉบับ สัญญาจะใช้เงินจำนวน 150,000,000 บาท 55,933,127.65 บาท 22,340,647.39 บาท และ 66,626,857.31 บาท ตามลำดับ ให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัล ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 โจทก์ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 4 ฉบับ ยื่นต่อจำเลยที่ 1 เพื่อให้ใช้เงินแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินให้เนื่องจากในวันดังกล่าวได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 182/2540 ตามเอกสารหมาย ล.12 ให้การระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยที่ 1 จ่ายคืนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2540 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 4 ฉบับ ดังกล่าวแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงไปก่อน โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินที่จำเลยที่ 2 ชำระไปคืนให้พร้อมดอกเบี้ย ตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือเอกสารหมาย ล.17 จำเลยที่ 2 จึงสั่งจ่ายเช็คของธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 จำนวนเงิน 303,576,032.57 บาท ให้แก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้เงินตามจำนวนในตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 4 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี คำนวณถึงวันที่ครบกำหนดใช้เงินตามตั๋ววันที่ 5 สิงหาคม 2540 โดยจำเลยที่ 2 มอบเช็คดังกล่าวซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะสั่งจ่ายในนามของโจทกให้จำเลยที่ 1 นำไปมอบแก่โจทก์ตามสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.8 และโจทก์ได้รับเงินตามเช็คไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540
พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ชำะรหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จนถึงวันถึงกำหนดในตั๋วสัญญาใช้เงินคือวันที่ 5 สิงหาคม 2540 และได้รับเวนคืนตั๋วสัญญาใช้เงินอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ ทำให้หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินระงับสิ้นไปแล้วจะทำให้โจทก์หมดสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้โจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 แต่มาชำระวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ตามปกติจำเลยทั้งสองย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องรับผิดในดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดแก่โจทก์ ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไม่ระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 320, 321 และ 326 ดังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เพียงแต่หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ระงับสิ้นไปเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยในปัญหาที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์มา ศาลฎีกาเห็นว่าทุนทรัพย์คดีนี้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้และเพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าจึงสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบมาตรา 247 ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ได้ชำระหนี้ตามกำหนดในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นเกิดจากเหตุพ้นวิสัยอันเป็นผลให้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 182/2540 ระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถที่จะชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ในครั้งนี้ กรณีหาใช่เรื่องการชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยเนื่องจากจำเลยที่ 1 กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคสอง แต่อย่างใด เพราะการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากถูกกระทรวงการคลังระงับการดำเนินกิจการนั้น จำเลยที่ 1 ยังสามารถที่จะฟื้นฟูกิจการและอาจดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคตหากแก้ไขฐานะและการดำเนินงานสำเร็จตามแนวนโยบายของทางการปรากฏตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 182/2540 เอกสารหมาย ล.12 ดังกล่าว และการระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ครั้งนี้หาได้เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ที่มีต่อโจทก์และเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ไม่ ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน เอกสารหมาย ล.11 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ถูกระงับการดำเนินกิจการ ที่กำหนดให้ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลไปติดต่อเพื่อขอรับชำระเงินจากจำเลยที่ 2 ผ่านจำเลยที่ 1 ได้ตามปกติเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนด ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ตามกำหนดเกิดจากเหตุสุดวิสัยจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 นั้นฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ทั้งที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดแล้วเกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้เพราะเหตุนี้ จำเลยที่ 1 ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่ ตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รีบดำเนินการขอให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ก็ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยครบถ้วนแล้วในวันที่ 8 สิงหาคม 2540 การดำเนินการของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ใช้เวลาเพียง 3 วัน เท่านั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการดำเนินการของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์แล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 6 ถึง 8 สิงหาคม 2540 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลจึงไม่ต้องรับผิดด้วยเช่นกัน อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.