คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีสัญชาติเวียตนาม ได้อาศัยทะเบียนบ้านที่ระบุว่าจำเลยมีสัญชาติไทย ซึ่งจำเลยทราบดีว่าไม่เป็นความจริงหรืออีกนัยหนึ่งก็คือหลักฐานเท็จ ไปอ้างต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อว่าจำเลยมีสัญชาติไทยจริงจึงได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลย ดังนั้น บัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยได้รับซึ่งเกิดจากหลักฐานเท็จและความหลงผิดของเจ้าพนักงาน จึงเป็นบัตรประจำตัวเท็จไปด้วย เมื่อจำเลยนำเอาทะเบียนบ้านที่ระบุสัญชาติของจำเลยเป็นเท็จกับบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อปลัดอำเภอผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อขอเปลี่ยนบัตรใหม่ ทั้งๆ ที่จำเลยทราบอยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีสิทธิขอบัตรประจำตัวประชาชนได้จำเลยจึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 จำคุก 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยมีอายุ 74 ปีแล้วให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ริบบัตรประจำตัวประชาชนของกลางด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พฤติการณ์ส่อว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยเป็นชาวเวียดนาม เข้ามาในประเทศไทยที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2478 ต่อมาจำเลยทำงานเป็นลูกจ้างกรมชลประทานที่จังหวัดหนองคายแล้วย้ายไปจังหวัดลำปางเมื่อ พ.ศ. 2490 และได้แต่งงานกับนางติ๊บหรือติ๋ม เจ้าคุณดีเมื่อ พ.ศ. 2493 มีบุตรด้วยกัน 11 คน เมื่อ พ.ศ. 2499 มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ขณะนั้นจำเลยทำงานอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่กรมชลประทานได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สำรวจสำมะโนประชากรว่าจำเลยมีสัญชาติไทย หลังจากนั้นจำเลยได้ย้ายมาอยู่ที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2504 และได้ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกที่อำเภอบึงกาฬ เมื่อ พ.ศ. 2506ทางราชการได้ออกบัตรให้จำเลย ต่อมา พ.ศ. 2508 จำเลยย้ายภูมิลำเนามาอยู่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ครั้น พ.ศ. 2512บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยหมดอายุ จำเลยได้ยื่นคำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวใหม่ โดยยื่นต่อนายอรุณ แสงศักดิ์ชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นปลัดอำเภอตรี อำเภอสว่างแดนดิน มีหน้าที่รับผิดชอบแผนกบัตรประจำตัวประชาชน นายอรุณ แสงศักดิ์ชัย ตรวจสอบหลักฐานกับสำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยนำมาแสดงแล้วออกบัตรใหม่ให้ โดยยึดบัตรเดิมไว้ ต่อมา พ.ศ. 2518บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยครบอายุอีก จำเลยจึงยื่นคำขอเปลี่ยนบัตรใหม่ต่อนายอรุณ แสงศักดิ์ชัย ปลัดอำเภอ โดยจำเลยได้นำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนมายื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 จ.7 และ จ.8 ตามลำดับเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานดังกล่าวถูกต้องแล้ว จึงให้จำเลยถ่ายรูปและออกบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ให้จำเลย

มีปัญหาว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยนำสืบรับอยู่แล้วว่า จำเลยเป็นคนเวียดนามโดยกำเนิดย่อมมีสัญชาติเวียดนาม จำเลยเดินทางเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2478 จนกระทั่งบัดนี้ จำเลยไม่เคยโอนสัญชาติมาเป็นสัญชาติไทยแต่อย่างใด จำเลยย่อมทราบดีว่า ตนเองมิใช่คนสัญชาติไทยแม้ต่อมาจะปรากฏว่า ในระหว่างมีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานที่จังหวัดอุบลราชธานีจะได้ใส่ชื่อจำเลยในทะเบียนบ้านและระบุว่าจำเลยมีสัญชาติไทย ทั้งนี้จะโดยจงใจหรือเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ตาม รายการเกี่ยวกับจำเลยในทะเบียนบ้านระบุว่าจำเลยมีสัญชาติไทยนั้นก็เป็นเท็จ จำเลยหาได้ซึ่งสัญชาติไทยแต่ประการใดไม่ ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 ออกใช้บังคับ มาตรา 5 บัญญัติให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยที่มีอายุระหว่าง 17 ถึง 70 ปี ไปขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยได้อาศัยทะเบียนบ้านที่ระบุว่าจำเลยมีสัญชาติไทยซึ่งจำเลยทราบดีว่าไม่เป็นความจริงหรืออีกนัยหนึ่งก็คือหลักฐานเท็จไปอ้างต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานดังกล่าวหลงเชื่อว่าจำเลยมีสัญชาติไทยจริงจึงได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย ดังนั้น บัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยได้รับซึ่งเกิดจากหลักฐานเท็จและความหลงผิดของเจ้าพนักงานดังกล่าวจึงเป็นบัตรประจำตัวเท็จไปด้วย จำเลยไม่มีสิทธิใช้บัตรประจำตัวอันเป็นเท็จไม่ว่ากรณีใด ๆ ฉะนั้นที่จำเลยนำเอาทะเบียนบ้านที่ระบุสัญชาติของจำเลยเป็นเท็จกับบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อนายอรุณ แสงศักดิ์ชัย ปลัดอำเภอผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อขอเปลี่ยนบัตรใหม่ทั้ง ๆที่จำเลยทราบอยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีสิทธิขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ ซึ่งมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share