คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปปลูกมะพร้าวและสับปะรดในที่ดินพิพาทในเวลากลางวัน แม้พืชผลที่จำเลยปลูกจะอยู่ในที่ดินพิพาททั้งกลางวันและกลางคืนตลอดมาก็เป็นเพียงผลของการกระทำคือการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(3)

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายลาภ เนตรสุวรรณ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,365(3) จำคุก 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ร่วมมีชื่อเป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1474 ตำบลหากพันไกร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 87 ตารางวา ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จำเลยเข้าไปปลูกมะพร้าวและพืชอื่นในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว

จำเลยฎีกาข้อแรกว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ปราศจากข้อสงสัยว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ในข้อนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานคือ โจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2510 โดยปลูกข้าว ต้นหมากมะพร้าวและมะม่วงหิมพานต์ จนกระทั่งทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อปี 2521 นอกจากนี้นายสิน พรหมสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่ทรัพย์พิพาทตั้งอยู่นายสุรัตน์ ผดุงชินะ และนางผ่อน ณ นคร เจ้าของที่ดินข้างเคียงต่างเบิกความยืนยันว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนางผ่อนเป็นลูกพี่ลูกน้องกับจำเลย นายสินและนายสุรัตน์เป็นพยานคนกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใดและเป็นผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์มาตลอด คำเบิกความของพยาน 3 ปากนี้จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ที่จำเลยนำสืบว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายหญีตบิดาจำเลย นายหญีตยกให้จำเลย จำเลยจึงเข้าครอบครองทำประโยชน์นั้น มีแต่เพียงคำเบิกความของจำเลยและนายวิเชียรปฏิแพทย์ ซึ่งเป็นญาติของจำเลย อีกทั้งยังขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย ซึ่งจำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดครอบครองเป็นเจ้าของจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์เมื่อปี 2520 พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า โจทก์ร่วมเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2510 ตลอดมาจนถึงวันเกิดเหตุ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาข้อสองว่า โจทก์ร่วมเบิกความว่า จำเลยบุกรุกตั้งแต่ปี 2521 แต่เพิ่งร้องทุกข์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 คดีโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความว่า จำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วม 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2531 จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกมะพร้าวและมะม่วงหิมพานต์ในที่ดินของโจทก์ร่วมด้านทิศตะวันตกซึ่งติดกับถนนบ้านหนองจันทร์หอมคิดเป็นเนื้อที่ที่บุกรุก 1 ไร่เศษ ครั้งที่สองเมื่อเดือนมิถุนายน 2538 จำเลยย้ายหลักที่โจทก์ร่วมปักเป็นเขตแล้วเข้าไถดินและปลูกหญ้าเลี้ยงวัว คิดเป็นเนื้อที่ที่บุกรุก 1 ไร่ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538 โจทก์ร่วมนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดิน จำเลยก็คัดค้านการรังวัด โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ครั้งที่สามเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกมะพร้าวและสับปะรดในที่ดินของโจทก์ร่วมคิดเป็นเนื้อที่ 10 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ ตามที่ปรากฏในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 ร้อยตำรวจเอกวิมล พิทักษ์บูรพา พนักงานสอบสวนได้มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ร่วมข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกมะพร้าวและสับปะรดในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 และโจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 อันเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาข้อสามว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) เป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทในเวลากลางคืน เห็นว่า จำเลยเข้าไปปลูกมะพร้าวและสับปะรดในที่ดินพิพาทในเวลากลางวัน แม้พืชผลที่จำเลยปลูกจะอยู่ในที่ดินพิพาททั้งกลางวันและกลางคืนตลอดมา ก็เป็นเพียงผลของการกระทำคือการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ไม่ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษจำเลย เห็นว่า จำเลยเป็นหญิง ขณะกระทำความผิดอายุ 54 ปี สภาพความผิดและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดไม่ร้ายแรง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษให้จำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362ลงโทษจำคุก 6 เดือน รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

Share