แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินและทรัพย์สินให้โจทก์ในฐานะตัวการ รวมทั้งเงินสดที่จำเลยในฐานะตัวแทนได้รับไว้แทนโจทก์ในฐานะตัวการ 2 รายการคือ ลูกหนี้58,301.35 บาท ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวในฟ้องว่ามีเงินสดจำนวนดังกล่าวอยู่ที่จำเลยแล้ว ส่วนอีกรายการคือสินค้าคงเหลือ57,887.95 บาท ปรากฏตามสำเนาหนังสือทวงถามจากทนายโจทก์ให้จำเลยชำระหนี้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เมื่อพิจารณาตามฟ้องโจทก์ประกอบกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องโจทก์ได้ยืนยันว่าจำเลยได้จำหน่ายสินค้าคงเหลือเป็นตัวเงินแล้วดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพียงจากสภาพคำฟ้องและพิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าตามฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยชำระเงินสดจำนวน116,189.30 บาท แต่ตามคำฟ้องทั้งสองรายการแปลได้ว่าไม่มีเงินสดอยู่ที่จำเลย ฟ้องโจทก์จึงไม่อาจบังคับกับจำเลยได้นั้น ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิจารณาพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบโต้แย้งก่อนแล้วจึงวินิจฉัย กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ ตามมาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 243(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงจำเลยไม่ส่งมอบเงินและทรัพย์สินแก่โจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 116,189.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เงิน ทรัพย์สินต่าง ๆ ตลอดจนบัญชีเจ้าหนี้ลูกหนี้และสินค้าคงเหลือตามฟ้อง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยมิได้เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 116,189.30 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ในการค้าบุหรี่ ต่อมาจำเลยบอกเลิกการเป็นตัวแทนและโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบถึงการระงับซึ่งสัญญาตัวการตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยจึงต้องคืนทรัพย์สินที่รับไว้ในฐานะตัวแทนของโจทก์ ตามบัญชีเงินสดรวม 2 รายการ คือ ลูกหนี้ 58,301.35 บาทและสินค้าคงเหลือ 57,887.95 บาท รวมเป็นเงินสดที่จำเลยต้องคืนโจทก์จำนวน 116,189.30 บาท เห็นว่า รายการในบัญชีเงินสดดังกล่าว สำหรับคำว่าลูกหนี้ 58,301.35 บาท ในทางบัญชีย่อมหมายความว่า เป็นรายการที่บุคคลภายนอกหรือลูกหนี้ค้างชำระเงินจำนวน 58,301.35 บาทจำเลยยังหาได้รับเงินจากลูกหนี้ไม่ จึงไม่มีเงินสดจำนวนดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย ส่วนคำว่า สินค้าคงเหลือ 57,887.95 บาทก็มีความหมายชัดแจ้งว่า ยังมีสินค้าเหลืออยู่มีราคาคิดเป็นเงิน57,887.95 บาท จึงไม่มีเงินสดจำนวน 57,887.95 บาท อยู่ในความครอบครองของจำเลยเช่นเดียวกัน การที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงินสดจำนวน 116,189.30 บาท แก่โจทก์ ย่อมเป็นคำขอที่มิอาจบังคับจำเลยได้เพราะยังไม่มีเงินสดที่จำเลยรับไว้ในฐานะตัวแทนของโจทก์อยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินจำนวน116,189.30 บาทแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 1อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของจำเลยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ยังไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงในสำนวนหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า “จำเลยในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินและทรัพย์สินให้โจทก์ในฐานะตัวการจงสิ้น รวมทั้งเงินสดที่จำเลยในฐานะตัวแทนได้รับไว้แทนโจทก์ในฐานะตัวการรวม2 รายการ คือ ก.ลูกหนี้ 58,301.35 บาท” เป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวในฟ้องว่ามีเงินสดจำนวนดังกล่าวอยู่ที่จำเลยแล้วส่วนรายการ “ข.สินค้าคงเหลือ 57,887.95 บาท” ปรากฏตามสำเนาหนังสือทวงถามจากทนายโจทก์ให้จำเลยชำระหนี้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3ซึ่งมีข้อความว่า “ตลอดจนเงินสดตามบัญชีเงินสดดังกล่าวว่าด้วยลูกหนี้และสินค้าคงเหลือ ซึ่งท่านได้จำหน่ายไปหมดสิ้นแล้วจำนวน116,189.30 บาท ให้ท่านดำเนินการส่งมอบเอกสาร หลักฐานต่าง ๆทรัพย์สิน ตลอดจนเงินสดที่ท่านเก็บจากบรรดาลูกหนี้ และจำหน่ายสินค้าคงเหลือจำนวน 116,189.30 บาท คืน” จะเห็นได้ว่า ตามฟ้องโจทก์ประกอบกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องโจทก์ได้ยืนยันแล้วว่าจำเลยได้จำหน่ายสินค้าคงเหลือเป็นตัวเงินแล้วชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะพิจารณาพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบโต้แย้งกันก่อนแล้วจึงวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาเพียงจากสภาพคำฟ้องและพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ดังกล่าว ถือว่ามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา กรณีมีเหตุสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 ประกอบด้วย มาตรา 243(2)”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี