แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ถ. มารดาโจทก์อนุญาตให้จำเลยเข้ามาปลูกบ้านอาศัยในที่ดินของตนในฐานะผู้อาศัยโดยมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ ลักษณะการอาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิปรปักษ์กับเจ้าของที่ดิน ดังนั้น แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นเวลานานเท่าใด ก็ไม่อาจได้สิทธิในที่ดินโดยการครอบคอรงปรปักษ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1237 (ที่ถูกเลขที่ 13536) ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร และส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและฟ้องแย้ง ขอให้พิพากษาว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาท ด้านทิศตะวันออกตลอดแนวกว้าง 3.20 เมตร ยาว 77.10 เมตร ติดต่อกับที่ดินด้านทิศใต้ขนาดกว้าง 12.50 เมตร ยาว 21.70 เมตร เนื้อที่ประมาณ 129.49 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้โจทก์ไปจัดการแบ่งแยกโฉนดโอนที่ดินส่วนที่ครอบครองปรปักษ์ให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 13536 เลขที่ 1237 หน้าสำรวจ 1739 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 ธันวาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นางถนอม เกิดประดิษฐ์ มารดาโจทก์ และนายสงัด วงษ์นิล บิดาจำเลย เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ที่ดินโฉนดเลขที่ 13536 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 79 ตารางวา เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนางถนอม เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2530 นางถนอมทำหนังสือสัญญายกที่ดินโฉนดเลขที่ 13536 ให้แก่โจทก์โดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 งาน 26 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 13536 จำเลยใช้ที่ดินพิพาทปลูกบ้านเลขที่ 2810 และใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ นางถนอมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2540
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ตามคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยอ้างว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้างนั้น จำเลยเบิกความว่า นางถนอมเลี้ยงดูจำเลยตั้งแต่อายุ 4 ปี เมื่อจำเลยอายุ 18 ปี ได้สมรสกับนายเย็น วงษ์สีดำ แล้วอาศัยอยู่ที่กระต๊อบในที่ดินของนางถนอม จนกระทั่งจำเลยมีบุตร 4 คน นางถนอมเห็นว่าเป็นครอบครัวใหญ่ จึงให้ย้ายไปปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยนางถนอมให้เงินปลูกบ้าน 1,700 บาท นางถนอมให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยให้จำเลยเป็นผู้ดูแลและให้จำเลยอยู่จนตลอดชีวิตชั่วบุตรชั่วหลาน จำเลยเคยขอให้นางถนอมไปจดทะเบียนยกให้แต่นางถนอมผัดผ่อนเรื่อยมา นายยง วงษ์นิล พยานจำเลยซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับจำเลยและเป็นผู้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทให้จำเลยเบิกความว่าบ้านของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของนางถนอมซึ่งอนุญาตให้จำเลยผู้มีศักดิ์เป็นหลานเข้ามาปลูกได้โดยเข้าใจว่าไม่ต้องเสียค่าเช่า ให้จำเลยอยู่ในฐานะบุตรหลาน เห็นว่า จำเลยและนายยงต่างก็มิได้เบิกความยืนยันว่านางถนอมยกกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของมีอำนาจสิทธิขาดแต่ผู้เดียวในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย นอกจากนี้จำเลยยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นางถนอมเป็นผู้สร้างทางเข้าออกสู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ นายพิพัฒน์ วงษ์นิล พยานจำเลยเบิกความว่า ที่ดินซึ่งจำเลยใช้ปลูกบ้านเป็นที่ต่ำมีน้ำท่วม นางถนอมได้นำดินและหินมาถม เป็นการแสดงว่านางถนอมยังมีเจตนาหวงกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นายสนั่น วงษ์นิล ก็เคยมีบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ได้รื้อถอนออกไปแล้ว เป็นการเจือสมพยานโจทก์ที่นำสืบว่า นางถนอมได้อนุญาตให้ญาติที่ไม่มีที่อยู่อาศัยรวมถึงจำเลยเข้ามาปลูกบ้านอาศัยในที่ดินของตนในฐานะผู้อาศัย โดยมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ ลักษณะการขออาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิปรปักษ์กับเจ้าของที่ดิน ดังนั้น แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลานานเท่าใดก็ไม่อาจได้สิทธิในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน