แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความคือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญาที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์มาแต่เดิม มาพบกับทนายความของโจทก์ แต่มิได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของตนมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญายอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยโดยขอผ่อนชำระจึงเป็นการตัดสินใจกระทำไปโดยลำพังด้วยความสมัครใจของจำเลยที่ 3 เอง และข้อความในสัญญาดังกล่าวระบุว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องเรียกร้องหนี้ที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมแสดงชัดเจนแล้วว่าสัญญาที่ทำขึ้นนี้ไม่ทำให้หนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ระงับสิ้นไป แม้จะใช้ชื่อว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ก็หาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมายไม่ เป็นเพียงสัญญาซึ่งจำเลยที่ 3 ที่เป็นบุคคลภายนอกยอมผูกพันตนเข้าร่วมชำระหนี้ของลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่โจทก์และจำเลยที่ 3 กระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้
จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ส่วนที่ยังค้างชำระตามสัญญาได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่ต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปอย่างลูกหนี้ร่วมกัน และเมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนเดียวกันกับหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนตามแต่จะเลือก และการที่จำเลยคนหนึ่งชำระหนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยอื่นด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ ศาลย่อมอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องชำระได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 103,888.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 95,598 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 95,598 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 11 กันยายน 2546) ให้ไม่เกิน 8,290.87 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ประกอบกิจการให้บริการทางการแพทย์ และให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแก่ผู้ป่วย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพยาบาล มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโดยการฟอกไต ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,200 บาท โจทก์ส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานด้านการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีกำหนด 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2545 ตลอดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ยังจ่ายเงินเดือนให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์ว่า เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรม จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมาปฏิบัติงานกับโจทก์ต่อไปเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันสิ้นสุดการฝึกอบรม หากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินเป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์เป็นจำนวน 12 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบยอมให้คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังไม่ได้ชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ. 3 ในการนี้จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องชดใช้เงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดโดยโจทก์ไม่จำต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. 4 หลังจากครบกำหนดการฝึกอบรม จำเลยที่ 1 กลับมาทำงานกับโจทก์อยู่อีก 8 เดือน ก็ยื่นใบลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับตามสัญญา โดยคิดลดส่วนที่กลับมาทำงานให้ด้วยแล้วเป็นเงิน 121,600 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ ต่อมาจำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 3 มาพบกับทนายความของโจทก์ และจำเลยที่ 3 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยยอมชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเงิน 130,720 บาท ผ่อนชำระเดือนละไม่ต่ำกว่า 32,600 บาท (น่าจะเป็น 32,680 บาท) โดยนำเงินฝากเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารทุกวันที่ 25 ของเดือน เริ่มวันที่ 25 มกราคม 2546 เป็นงวดแรก และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 เมษายน 2546 หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับคดีทันที พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องเรียกร้องหนี้จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยทำสัญญาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2546 หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ชำระเงินให้โจทก์เพียงงวดเดียวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นเงิน 32,680 บาท โจทก์นำเงินที่จำเลยที่ 3 ชำระมานั้นชำระเป็นดอกเบี้ยและเงินต้นบางส่วน คงเหลือเงินต้นค้างชำระเป็นเงิน 95,598 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามให้ชำระแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า มูลหนี้อันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยไม่ทำงานให้แก่โจทก์จนครบกำหนด 2 ปี นับแต่วันสิ้นสุดการอบรมระงับไปแล้วเพราะจำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 1 ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความคือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญาซึ่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์มาแต่เดิม จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับฝ่ายโจทก์ได้ แม้ศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 มาพบกับทนายความของโจทก์ แต่ก็มิได้ฟังไปถึงว่า จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของตนมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญายอมร่วมรับผิดด้วยโดยขอผ่อนชำระจึงเป็นการตัดสินใจกระทำไปโดยลำพังด้วยความสมัครใจของจำเลยที่ 3 เอง ทั้งข้อความตอนท้ายข้อ 3 ของสัญญาดังกล่าวที่ระบุว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องเรียกร้องหนี้ที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็แสดงชัดเจนว่าสัญญาที่ทำขึ้นนี้ไม่ทำให้หนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ระงับสิ้นไป สัญญานี้แม้จะใช้ชื่อว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ก็หาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมายไม่ เป็นแต่เพียงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์ยอมผูกพันตนเข้าร่วมชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ด้วย ซึ่งเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่โจทก์และจำเลยที่ 3 กระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ส่วนที่ยังค้างชำระตามสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้ซึ่งไม่เกินกว่าจำนวนหนี้เดิมที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่ต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปอย่างลูกหนี้ร่วมกัน และเมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเดียวกันกับหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนตามแต่จะเลือก และการที่จำเลยคนหนึ่งชำระหนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยอื่นด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ก็เห็นสมควรพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องชำระเสียให้ชัดเจนด้วยเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง