แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีก็โดยความเห็นชอบของสมาชิกสภาเทศบาลส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาเทศบาล จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งของโจทก์ที่ 3 ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาเทศบาล ทั้งตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 หาได้มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลขอให้บังคับผู้ว่าราชการจังหวัดเพิกถอนการแต่งตั้งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีไว้แต่อย่างใดไม่ ฉะนั้นโจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองลำปางโจทก์ที่ ๑ เป็นประธานสภาเทศบาล โจทก์ที่ ๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองลำปางในการประชุมสภาพเทศบาลเมืองลำปางสมัยวิสามัญ โจทก์ที่ ๒ ได้เสนอร่างเทศบัญญัติงบประมาณต่อสภาเทศบาลเมืองลำปาง แต่ปรากฏว่าสมาชิกสภาเทศบาลเมืองลำปางกลุ่มหนึ่งตกลงกันที่จะไม่รับหลักการ และได้ร่วมกันปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ทำให้โจทก์ที่ ๒ ต้องพ้นจากตำแหน่ง จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่คัดเลือกตัวบุคคลผู้สมควรเป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีเมืองลำปางได้เรียกประชุมสภาพเทศบาลฯ แต่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นนายกเทศมนตรี จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นเทศมนตรีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและยังมิได้รับความเห็นชอบจากสภาเทศบาลเมืองลำปางตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ และตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่อาจเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีได้ ขอให้บังจำเลยที่ ๑ ออกประกาศเพิกถอนประกาศแต่งตั้งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีเมืองลำปาง หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนประกาศเพิกถอน ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่รับฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีเมืองลำปางเป็นการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายและปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาลแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ไม่อาจบังคับได้เพราะพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมสภาเทศบาลเมืองลำปางได้มีการประชุมร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และเทศบาลมีมติไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมด เป็นเหตุให้คณะเทศมนตรีในขณะนั้นต้องออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๕(๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ จำเลยที่ ๑ จึงได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีชั่วคราว ต่อมาจำเลยที่ ๑ ให้เรียกประชุมสมาชิกสภาเทศบาลเมืองลำปางเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๕ เพื่อพิจารณาซาวเสียงเลือกสมาชิกสภาเทศบาลผู้สมควรเป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีเมืองลำปางตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ ข้อ ๙๗ ซึ่งการประชุมครั้งนั้นมีสมาชิกเทศบาลมาประชุมครบทั้ง ๑๘ คน ปรากฏสมาชิกสภาเทศบาล ๑๐ คนเสนอให้นายเรือง เขื่อนแก้วเป็นนายกเทศมนตรี และนายแพทย์วัฒนา วานิชสุขสมบัติ กับนายนรินทร์ มโนกุลอนันต์ เป็นเทศมนตรี นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งที่ ๑๙๓๓/๒๕๒๕ เรียกประชุมสภาเทศบาลเมืองลำปางสมัยวิสามัญ (สมัยที่ ๔) ประจำปี ๒๕๒๕ เพื่อจำเลยที่ ๑ จะได้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อสภาเทศบาลในการแต่งตั้งคณะเทศมนตรี ในการประชุมสภาเทศบาลครั้งนี้ หลังจากจำเลยที่ ๑ ได้เสนอชื่อคณะเทศมนตรีเพื่อขอรับความเห็นชอบต่อสภาเทศบาลแล้ว ปรากฏว่าสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน ๒ คน ผลัดกันยืนพูด โดยไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกคนอื่นอภิปรายด้วย โจทก์ที่ ๑ จึงสั่งปิดประชุม ต่อมาสมาชิกสภาเทศบาล ๑๐ คนได้ร้องขอต่อจำเลยที่ ๑ ให้เรียกประชุมสภาเทศบาลสมัยวิสามัญเพื่อสภาเทศบาลจะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะเทศมนตรี ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ออกคำสั่งเรียกประชุมสภาเทศบาลเมืองลำปางสมัยวิสามัญ (สมัยที่ ๑) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ในการประชุมครั้งนี้มีสมาชิกสภาเทศบาลมาประชุมครบองค์ประชุม เมื่อการประชุมดำเนินมาถึงระเบียบวาระที่ ๒ ยังไม่สิ้นสุดวาระการประชุม โจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ ตกลงกันให้เลื่อนการประชุมไปเวลา ๑๕ นาฬิกา ครั้นถึงเวลานัด ได้มีการโต้เถียงกันโดยฝ่ายที่ได้รับการซาวเสียงให้เป็นคณะเทศมนตรีซึ่งมีเสียงข้างมากให้ดำเนินการประชุมต่อไปตามระเบียบวาระที่ค้างอยู่ แต่ฝ่ายโจทก์ที่ ๓ ซึ่งมีเสียงข้างน้อยไม่ต้องการให้มีการประชุม โดยอ้างว่าไม่มีการเรียกประชุมและไม่มีระเบียบวาระการประชุมจนกระทั่งเวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกาเศษ จำเลยที่ ๑ จึงได้ขออนุญาตถามสมาชิกสภาเทศบาลว่า ที่จำเลยที่ ๑ ได้เสนอขอรับความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายเรือง เขื่อนแก้วเป็นนายกเทศมนตรี และนายแพทย์วัฒนา วานิชสุขสมบัติ กับนายนรินทร์ มโนกุลอนันต์ เป็นเทศมนตรี ตามที่ได้ซาวเสียงไว้แล้ว หากผู้ใดเห็นชอบขอให้ยกมือ ปรากฏว่ามีสมาชิกสภาเทศบาลยกมือเห็นชอบด้วย ๑๐ คน จำเลยที่ ๑ จึงประกาศแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ ๓ ประการแรกว่าโจทก์ที่ ๓ มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕ ได้บัญญัติว่าบุคคลชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ในสองกรณีคือ เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลนั้นตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลนั้นจะต้องใช้สิทธิทางศาล สำหรับกรณีแรก การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดได้สอบถามต่อที่ประชุมสภาเทศบาลว่า ตามที่จำเลยที่ ๑ ได้เสนอขอรับความเห็นชอบในการแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี ซึ่งได้เสนอต่อที่ประชุมสภาเทศบาลไว้แล้ว จะเห็นชอบหรือไม่ เมื่อสมาชิกสภาเทศบาลส่วนใหญ่เห็นชอบ จำเลยที่ ๑ ก็แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวนั้น ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งของโจทก์ที่ ๓ แต่อย่างใด สิทธิ+ของโจทก์ที่ ๓ ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเคยมีอยู่อย่างใด ก็คงมีอยู่อย่างนั้น ที่โจทก์ที่ ๓ ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีโดยไม่สอบถามความเห็นโจทก์ที่ ๓ เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ ๓ นั้น ทางพิจารณากลับได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ได้สอบถามความเห็นในเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมสภาเทศบาลซึ่งโจทก์ที่ ๓ ก็ได้อยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย เช่นนี้ จะว่าจำเลยที่ ๑ ไม่สอบถามโจทก์ที่ ๓ ได้อย่างไร ส่วนในกรณีหลังที่ว่าโจทก์ที่ ๓ จะใช้สิทธิทางศาลขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ ๑ ออกประกาศเพิกถอนการแต่งตั้งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีเมืองลำปางนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ หาได้มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาให้ศาลวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๕๗/๒๔๙๖ ระหว่าง นายผัน มงคล กับพวก โจทก์ นายพรหมสูตร สุคนธ์ กับพวก จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ ๓ ไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษายกฟ้องโจทก์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน