คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นยามรักษาความปลอดภัยของจำเลยมิได้เข้าเวรตามวันเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ได้ตกลงแลกเปลี่ยนเวรกับผู้อื่นแล้ว และโจทก์ลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่าจ้างก็โดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิจะได้รับค่าจ้างดังนี้ การกระทำของโจทก์ยังไม่ถึงกับเป็นการละทิ้งหน้าที่และลงเวลาทำงานอันเป็นเท็จโดยทุจริต ไม่เป็นการกระทำผิดร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยในหน้าที่ยามรักษาความปลอดภัย ต่อมาจำเลยไล่โจทก์ออกจากงานโดยกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าโจทก์ขาดเวรยามโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้าง๓ เดือน และจำเลยต้องคืนเงินประกันให้โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๖,๕๗๐ บาท และคืนเงินประกัน ๑,๐๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์มีอายุการทำงานไม่ครบ ๑๒๐ วัน เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๓๐ โจทก์ต้องเข้าเวรที่บริษัทร่มไทย จำกัดแต่โจทก์ละทิ้งหน้าที่และบังอาจลงเวลาอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงจำเลย ทำให้จำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์ ต่อมาจำเลยสั่งย้ายหน่วยงานโจทก์ โจทก์ขัดคำสั่งเป็นการทุจริตหรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับฯ ในกรณีที่ร้ายแรงจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และจำเลยไม่ต้องคืนเงินประกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ตามฟ้อง โจทก์ไม่ได้เข้าเวรเมื่อวันที่๑๔ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ตั้งแต่เวลา ๑๔ นาฬิกา ถึงเวลา ๒๒ นาฬิกา แต่โจทก์ตกลงเปลี่ยนเวรกับนายสอง และนายสองได้อยู่เวรแทนโจทก์แล้วฟังไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และลงเวลาทำงานอันเป็นเท็จโดยทุจริต จำเลยไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๓) โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๙๐ วัน และจำเลยต้องคืนเงินประกันให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและคืนเงินประกันแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มีหน้าที่อยู่เวรในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ตั้งแต่เวลา ๑๔ นาฬิกาถึงเวลา ๒๒ นาฬิกา แต่ในวันนั้นโจทก์ไปอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลเตาปูนตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกาถึงเวลา ๒๑ นาฬิกา และได้เข้าเวรเมื่อเวลา ๒๔ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๖ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น โจทก์ลงเวลาเข้าเวรอันเป็นเวร เป็นการหลอกลวงจำเลยและได้ไปซึ่งค่าจ้าง ถือว่าโจทก์ทุจริตและเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้นายสอง หลีกเลี่ยง เพิ่มขึ้นอีกในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๓๐ เห็นได้ว่าโจทก์ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง นั้นข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ตกลงแลกเปลี่ยนเวรกับนายสอง หลีกเลี่ยง โจทก์ลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่าจ้างโดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิจะได้รับค่าจ้าง โจทก์ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่และลงเวลาทำงานอันเป็นเท็จโดยทุจริต พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะมิได้เข้าเวรตามวันเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ก็ได้ตกลงแลกเปลี่ยนเวรกับผู้อื่นแล้ว การที่โจทก์ลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่าจ้างก็โดยที่เข้าใจว่าตนมีสิทธิจะได้รับค่าจ้างการกระทำของโจทก์ไม่ถึงกับเป็นการละทิ้งหน้าที่และลงเวลาทำงานอันเป็นเท็จโดยทุจริตเช่นนี้ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำความผิดร้ายแรงดังที่จำเลยอุทธรณ์
ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่าโจทก์แลกเปลี่ยนเวรกับนายสองโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบตามระเบียบ โจทก์มีเจตนาทุจริตนั้นเห็นว่า จำเลยให้การว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่เข้าเวรตามวันเวลาที่กำหนดและลงเวลาทำงานอันเป็นเท็จโดยทุจริต เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ร้ายแรง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์แลกเปลี่ยนเวรกับผู้อื่นโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบตามระเบียบจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลางศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน.

Share