คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4929/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้ผู้รับมอบอำนาจว่าความอย่างทนายความเพื่อป้องกันมิให้บุคคลภายนอกอันมิได้มีอาชีพเป็นทนายความมาว่าความในศาลอย่างทนายความ แต่กรณีที่ผู้รับมอบอำนาจมีอาชีพเป็นทนายความและมีสิทธิว่าความในศาลได้อยู่แล้ว หากประสงค์จะว่าความอย่างทนายความก็ชอบที่จะแต่งตั้งตนเองเป็นทนายความได้ตามมาตรา 61 และ 62 เมื่อ ย. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องจำเลยมีอาชีพทนายความ ย. ย่อมมีสิทธิที่จะตั้งแต่งตนเองเป็นทนายความอีกฐานะหนึ่งได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 60 วรรคสอง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,942,814.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,857,250.64 บาท นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 398 (ที่ถูก เลขที่ 393) ตำบลดอกไม้ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ของจำเลยที่ 2 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้จำนวนเงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การสืบพยานโจทก์ปากอื่นซึ่งเบิกความหลังพยานโจทก์ปากนายยุทธนา รังษีกาญจน์ส่อง แล้วพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โจทก์โดยนายโอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้มอบหมายให้นายยิ่งศักดิ์ ตันตินุชวงศ์ เป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดีแทน กับให้นายยิ่งศักดิ์มีอำนาจตั้งทนายความหรือตั้งพนักงานธนาคารเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง และให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงดังกล่าวมีอำนาจตั้งทนายความหรือตั้งพนักงานธนาคารเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงได้ตามหนังสือรับรองและหนังสือรับมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 นายยิ่งศักดิ์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายยุทธนา รังษีกาญจน์ส่อง พนักงานธนาคารโจทก์เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ปรากฏว่านายยุทธนาได้ตั้งแต่งตนเองเป็นทนายความและว่าความอย่างทนายความในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นายยุทธนามีอำนาจว่าความอย่างทนายความได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนดังที่ได้กล่าวมาแล้วทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดี ผู้รับมอบอำนาจเช่นว่านั้นจะว่าความอย่างทนายความไม่ได้ แต่ย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้” นั้น หมายถึง ห้ามมิให้ผู้รับมอบอำนาจว่าความอย่างทนายความ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลภายนอกอันมิได้มีอาชีพเป็นทนายความมาว่าความดำเนินคดีในศาลอย่างทนายความ โดยถือเอาการรับมอบอำนาจจากตัวความมาเป็นข้ออ้างซึ่งอาจทำความเสียหายให้แก่ตัวความได้ แต่ในกรณีที่ผู้รับมอบอำนาจมีอาชีพเป็นทนายความและมีสิทธิว่าความในศาลได้อยู่แล้ว หากผู้รับมอบอำนาจนั้นประสงค์จะว่าความอย่างทนายความก็ชอบที่จะแต่งตั้งตนเองเป็นทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 และ 62 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามใบแต่งทนายความโจทก์ ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2541 ว่า นายยุทธนาเป็นทนายความได้รับใบอนุญาตให้ว่าความโดยถูกต้อง และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ระบุว่าให้นายยิ่งศักดิ์และนายยุทธนามีอำนาจฟ้องคดีแพ่งแทนโจทก์ รวมทั้งมีอำนาจตั้งทนายความ จึงเป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงฟ้องคดีแทนแล้ว แม้ไม่ได้ระบุตัวบุคคลที่จะให้ฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงดังที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมแก้ฎีกาก็ตาม นายยุทธนาก็มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมแทนโจทก์ได้ ส่วนคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมในข้อที่ว่ามีการมอบอำนาจช่วงตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ก่อน แต่ยังไม่มีการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 หนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้น เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อนายยุทธนามีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมแทนโจทก์ และนายยุทธนาเป็นทนายความมีสิทธิว่าความในศาลได้อยู่แล้ว ดังนี้ นายยุทธนาย่อมมีสิทธิที่จะตั้งแต่งตนเองเป็นทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาและว่าความอย่างทนายความแทนโจทก์อีกฐานะหนึ่งได้ หาเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วม จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่เพื่อเป็นไปตามลำดับชั้นศาล”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share