แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับแจ้งข้อพิพาทแรงงานเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 ผู้แทนสหภาพแรงงาน บ. และผู้แทนจำเลยเข้าร่วมไกล่เกลี่ยในวันที่ 22, 27 มีนาคม 2555 ในวันที่ 27 มีนาคม 2555 ผู้แทนจำเลยแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและผู้แทนสหภาพแรงงาน บ. ทราบว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้มีการเจรจาต่อไปคือไม่ประสงค์ให้มีการไกล่เกลี่ยต่อไป ข้อพิพาทแรงงานจึงเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 22 วรรคสาม
ผู้แทนจำเลยทำหนังสือแจ้งใช้สิทธิปิดงานมอบให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและผู้แทนสหภาพแรงงาน บ. ผู้แทนสหภาพแรงงาน บ. ไม่ยอมรับหนังสือ ผู้แทนจำเลยจึงอ่านข้อความในหนังสือให้ผู้แทนสหภาพแรงงาน บ. ฟัง เท่ากับจำเลยได้แจ้งการใช้สิทธิปิดงานเป็นหนังสือให้ผู้แทนสหภาพแรงงาน บ. ทราบแล้วตามมาตรา 34 วรรคสอง
สหภาพแรงงาน บ. เป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้องแทนลูกจ้างผู้เป็นสมาชิก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง การที่ผู้แทนจำเลยแจ้งการปิดงานให้ผู้แทนสหภาพแรงงาน บ. ทราบ จึงเป็นการแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบตามมาตรา 34 วรรคสอง
มาตรา 34 วรรคสอง บัญญัติวิธีการแจ้งใช้สิทธิปิดงานไว้เป็นการเฉพาะแล้ว นำวิธีการปิดประกาศข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ตกลงกันได้แล้วตามมาตรา 18 วรรคสอง มาใช้กับการแจ้งสิทธิปิดงานไม่ได้
แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมยังไม่สิ้นสุดลง แต่เมื่อสหภาพแรงงาน บ. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยลงวันที่ 29 มีนาคม 2554 โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาการใช้บังคับไว้ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับหลังจึงมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่สหภาพแรงงาน บ. และจำเลยได้ตกลงกันเป็นเวลา 1 ปี ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 28 มีนาคม 2555 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/5 วรรคสอง ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นของวันที่ 29 มีนาคม 2555 จึงไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้บังคับให้ฝ่ายสหภาพแรงงาน บ. และฝ่ายจำเลยต้องปฏิบัติตาม จำเลยจึงปิดงานในวันที่ 29 มีนาคม 2555 ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (2)
ย่อยาว
คดีทั้ง 800 สำนวน เดิมศาลแรงงานภาค 2 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 800 เรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 2 โจทก์ 107 คน ขอถอนฟ้อง (รายละเอียดตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2) ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาต เหลือโจทก์รวม 693 คน
โจทก์รวม 693 คน ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดเฉพาะที่ขาด (ที่ไม่นำค่าเช่าบ้านมาเป็นฐานคำนวณ) กับให้จำเลยจ่ายเงินเดือน ค่าเช่าบ้าน โบนัสและสวัสดิการในระหว่างระยะเวลาที่มีการปิดงานพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายจากการทำละเมิดเป็นจำนวนตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทุกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างสืบพยาน โจทก์รวม 693 คน แถลงไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามฟ้องข้อ 8.2 และข้อ 8.3 ในส่วนที่ไม่นำค่าเช่าบ้านซึ่งโจทก์รวม 693 คน ถือว่าเป็นค่าจ้างมารวมเป็นฐานในการคำนวณ
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์รวม 693 คน อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์รวม 693 คน ประการแรกว่า การที่ผู้แทนจำเลยอ่านข้อความในหนังสือแจ้งใช้สิทธิปิดงานให้ผู้แทนสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์ฟังโดยไม่นำหนังสือดังกล่าวไปปิดประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่ลูกจ้างทำงานดังเช่นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 18 เป็นการขัดต่อมาตรา 34 วรรคสองหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 34 วรรคสอง บัญญัติว่า “ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้ง” เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์แจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 โดยผู้แทนสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์และผู้แทนจำเลยเข้าร่วมไกล่เกลี่ยรวม 2 ครั้ง คือในวันที่ 22 และวันที่ 27 มีนาคม 2555 โดยในครั้งที่ 2 คือในวันที่ 27 มีนาคม 2555 ผู้แทนจำเลยแจ้งความประสงค์ต่อผู้แทนสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานแล้วว่า จำเลยไม่ประสงค์จะเจรจาคือไม่ประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยต่อไป กรณีจึงถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม จำเลยย่อมใช้สิทธิปิดงานได้เท่าที่ไม่ขัดต่อมาตรา 34 การที่ผู้แทนจำเลยจัดทำหนังสือแจ้งใช้สิทธิปิดงานมามอบให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและผู้แทนสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการใช้สิทธิตามกฎหมายแล้ว แต่ผู้แทนสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์ปฏิเสธไม่ยอมรับหนังสือนั้นเอง ผู้แทนจำเลยจึงอ่านข้อความในหนังสือให้ผู้แทนสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์รับฟังเพื่อให้ทราบถึงการใช้สิทธิปิดงานตามกฎหมาย เท่ากับว่าจำเลยได้แจ้งการใช้สิทธิปิดงานเป็นหนังสือให้ผู้แทนสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์ทราบแล้ว เมื่อสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์เป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้องแทนลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการที่ผู้แทนจำเลยแจ้งการปิดงานให้ผู้แทนสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์ทราบจึงเป็นการแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบตามมาตรา 34 วรรคสอง อีกทั้งมาตรา 34 วรรคสอง มิได้บัญญัติให้การแจ้งใช้สิทธิปิดงานต้องทำเป็นหนังสือนำไปปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ที่ลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องทำงานอยู่ดังเช่นการปิดประกาศข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 18 แต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 18 มาใช้กับการแจ้งใช้สิทธิปิดงานซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 34 วรรคสอง เป็นการเฉพาะแล้วได้ อุทธรณ์ของโจทก์รวม 693 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์รวม 693 คน ประการที่สองว่า จำเลยแจ้งปิดงานเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 โดยให้มีผลวันที่ 29 มีนาคม 2555 เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 34 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ถือว่ามีผลใช้บังคับ 1 ปี นับแต่วันที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกัน ดังนั้นแม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังไม่สิ้นสุดลง แต่เมื่อสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยลงวันที่ 29 มีนาคม 2554 โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาการใช้บังคับไว้ตามที่โจทก์รวม 693 คน บรรยายฟ้อง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่สหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์และจำเลยได้ตกลงกันเป็นเวลา 1 ปี ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 28 มีนาคม 2555 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 วรรคสอง ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นของวันที่ 29 มีนาคม 2555 จึงไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้บังคับให้ฝ่ายสหภาพแรงงานบริดจสโตนไทร์และฝ่ายจำเลยต้องปฏิบัติตาม จำเลยจึงปิดงานในวันที่ 29 มีนาคม 2555 ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (2) ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาว่าการปิดงานของจำเลยไม่ฝ่าฝืนมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (2) นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์รวม 693 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน