คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13019/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น เป็นการกำหนดต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติก่อนผิดนัด จึงมิใช่การลดเบี้ยปรับ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้ถูกต้อง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายถึงอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดตามที่โจทก์ประกาศในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าว จึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงเหลือในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าวบวกกับอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เป็นดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ แต่ละฉบับ การคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งเป็นเบี้ยปรับในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาบวกกับอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี จึงต้องนับจากวันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ เป็นต้นเงินจำนวน 29,532,953.05 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 1,842,765.83 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 31,375,718.88 บาท และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 29,532,953.05 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 28,876,473.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันที่ 18 มกราคม 2550 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ประการแรกทำนองว่า การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดภายหลังที่ได้ก่อหนี้และซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ จึงทำให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำฟ้องด้วย นั้น เห็นว่า แม้ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จะมีประเด็นให้พิจารณาว่าการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กลายเป็นพ้นวิสัยหรือไม่ แต่เหตุตามที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อ้างตามคำให้การและคำอุทธรณ์ทำนองว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโดยไม่พิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ หรือโจทก์ไม่ได้หักบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ทันทีที่ครบกำหนดตามสัญญาทรัสต์รีซีท หรือโจทก์ยอมปล่อยให้จำเลยที่ 1 นำสินค้าออกขายนั้นก็ไม่ได้เป็นเหตุที่ให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่อย่างใด และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 นำสืบซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้แย้งกันว่า ภายหลังที่ทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้โดยมีบัญชีเงินฝากธนาคารซึ่งโจทก์สามารถหักเงินในบัญชีนั้นชำระหนี้ได้ ดังนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะชำระหนี้ได้ การชำระหนี้จึงมิได้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่ 2 ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์หักชำระหนี้เงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การเพียงว่า โจทก์หักชำระหนี้เงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2549 ตามคำฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 23 และข้อ 27 ถึงข้อ 29 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะการหักบัญชีในวันที่ 30 สิงหาคม 2549 รวมเป็นเงินจำนวน 656,470.27 บาท เท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์หักชำระหนี้เงินจากบัญชีเงินฝากจำเลยที่ 1 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2549 และวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 รวมเป็นเงินจำนวน 1,001,185.63 บาท ตามสัญญาทรัสต์รีซีทและใบแจ้งหักชำระหนี้เอกสารหมาย จ.45 และ จ.76 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีอันเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่า โจทก์หักชำระหนี้เงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2549 ตามคำฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 23 และข้อ 27 ถึงข้อ 29 รวมเป็นเงินจำนวน 656,470.27 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ แม้ตามข้อ 8.2 ของสัญญาทรัสต์รีซีทตามเอกสารหมาย จ.45 ถึง จ.74 และตามหนังสือให้ความยินยอมให้หักบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย จ.106 จำเลยที่ 1 จะยินยอมให้โจทก์หักบัญชีเงินฝากทุกประเภทของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ได้ทันที ก็เป็นเพียงการแสดงเจตนาให้สิทธิแก่โจทก์ มิใช่ข้อตกลงที่โจทก์จะต้องปฏิบัติ เมื่อพิเคราะห์ถึงระยะเวลาที่โจทก์หักบัญชีเงินฝากเพื่อชำระหนี้ ปรากฏว่าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามเอกสารหมาย จ.45 ถึง จ.74 ถึงกำหนดชำระระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2548 วันที่ 27 ตุลาคม 2548 วันที่ 27 ตุลาคม 2548 วันที่ 31 ตุลาคม 2548 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 วันที่ 6 ธันวาคม 2548 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 วันที่ 16 ธันวาคม 2548 วันที่ 6 ธันวาคม 2548 วันที่ 6 ธันวาคม 2548 วันที่ 6 ธันวาคม 2548 วันที่ 13 ธันวาคม 2548 วันที่ 22 ธันวาคม 2548 วันที่ 13 ธันวาคม 2548 วันที่ 26 ธันวาคม 2548 วันที่ 23 ธันวาคม 2548 วันที่ 22 ธันวาคม 2548 วันที่ 26 มกราคม 2549 วันที่ 26 มกราคม 2549 วันที่ 26 มกราคม 2549 วันที่ 27 มกราคม 2549 วันที่ 26 มกราคม 2549 วันที่ 27 มกราคม 2549 วันที่ 26 มกราคม 2549 วันที่ 26 มกราคม 2549 วันที่ 26 มกราคม 2549 และวันที่ 27 เมษายน 2549 ตามลำดับ การที่โจทก์หักบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2549 ก็มิได้ทอดระยะเวลาให้เนิ่นนานเกินสมควร กับทั้งไม่ปรากฏว่าในวันที่หนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระนั้น เงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 มีเพียงใดและเพียงพอที่จะหักชำระหนี้ได้หรือไม่ ทั้งการที่โจทก์ยังไม่ได้หักบัญชีเงินฝากในทันทีที่ผิดนัด ก็อาจทำให้จำเลยที่ 1 ยังมีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจได้อันเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เองก็ต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาประโยชน์ของตนด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 ย่อมทราบถึงสถานะบัญชีของตนและมีสิทธิถอนเงินจากบัญชีนั้นมาชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเพื่อมิให้ต้องเสียดอกเบี้ยตามสัญญาดังกล่าวต่อไปได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต และจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าการที่โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในวันดังกล่าวเป็นการทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียวหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ในวันที่ 30 สิงหาคม 2549 และมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากต้นเงินคงเหลือนับแต่วันดังกล่าวได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้จนถึงวันฟ้อง นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในประการนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่ 3 ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 และอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดเพียงใด เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าตามข้อ 4 ย่อหน้าแรกของสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.45 ถึง จ.74 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระเงินตามจำนวนหนี้ที่กำหนดไว้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้เป็นเงินบาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน (อัตราขาย) ที่ประกาศครั้งแรกของโจทก์ในวันที่ครบกำหนดชำระเงิน ซึ่งเป็นการตกลงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ต่อกัน ข้อตกลงเช่นนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับกันได้ไม่ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การที่โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาทรัสต์รีซีทนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์มีสิทธิคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอัตราดังกล่าวได้ ที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ว่า โจทก์ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในวันที่โจทก์ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น สำหรับการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดของโจทก์นั้น ปรากฏตามข้อ 4 ย่อหน้าที่ 2 ของสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.45 ถึง จ.74 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ในวันครบกำหนดชำระยินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดที่โจทก์ประกาศกำหนด และข้อ 8.1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัด ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่โจทก์ประกาศใช้ในขณะนั้น ทั้งนี้หากโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดขึ้นใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์คิดในอัตราดังกล่าวโดยโจทก์ไม่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้จำเลยที่ 1 ทราบ เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าฐานผิดสัญญาอันเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลลดลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และ 383 เมื่อพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ประกาศที่มีผลใช้บังคับในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตตามประกาศธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.105 ปรากฏว่าโจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2548 กำหนดดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปอัตราร้อยละ 10.25 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้อัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ซึ่งเริ่มใช้บังคับสัญญาทรัสต์รีซีทที่ผิดนัดในช่วงแรกและในช่วงต่อมาโจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2548 กำหนดดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปในอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ประกาศอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2549 กำหนดดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี และประกาศอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2549 กำหนดดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปอัตราร้อยละ 12 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น เป็นการกำหนดต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติก่อนผิดนัด จึงมิใช่การลดเบี้ยปรับ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้ถูกต้อง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายถึงอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดตามที่โจทก์ประกาศในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าว จึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงเหลือในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าวบวกกับอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เป็นดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ เอกสารหมาย จ.45 ถึง จ.74 แต่ละฉบับ การคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งเป็นเบี้ยปรับในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาบวกกับอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี จึงต้องนับจากวันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.45 ถึง จ.74 แต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เว้นแต่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.68 ถึง จ.70 และ จ.74 ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 28 มกราคม 2549 วันที่ 27 มกราคม 2549 วันที่ 28 มกราคม 2549 และวันที่ 28 เมษายน 2549 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ประการนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ เอกสารหมาย จ.45 ถึง จ.74 เป็นเงินจำนวน 838,652.40 บาท จำนวน 136,095.97 บาท จำนวน 2,495,315.20 บาท จำนวน 867,097.92 บาท จำนวน 996,324 บาท จำนวน 1,976,843.70 บาท จำนวน 876,990.24 บาท จำนวน 599,530.80 บาท จำนวน 1,560,762 บาท จำนวน 1,032,500 บาท จำนวน 516,682.12 บาท จำนวน 960,513.12 บาท จำนวน 292,827.24 บาท จำนวน 1,628,696.16 บาท จำนวน 753,077.52 บาท จำนวน 597,105.60 บาท จำนวน 1,303,816 บาท จำนวน 770,236 บาท จำนวน 774,900 บาท จำนวน 636,065.10 บาท จำนวน 829,333.44 บาท จำนวน 938,160 บาท จำนวน 1,087,483.80 บาท จำนวน 952,476 บาท จำนวน 713,470.68 บาท จำนวน 829,545.60 บาท จำนวน 771,636.60 บาท จำนวน 829,333.44 บาท จำนวน 1,485,420 บาท และจำนวน 1,482,062.40 บาท ตามลำดับ รวมเป็นต้นเงินจำนวน 29,532,953.05 บาท และชำระดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวนที่ 1 ถึงที่ 30 ดังกล่าว ตามลำดับ นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2549 สำหรับต้นเงินจำนวนที่ 1 ถึงที่ 23 และจำนวนที่ 27 ถึงที่ 29 นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2549 อันเป็นวันผิดนัด สำหรับต้นเงินจำนวนที่ 24 และที่ 26 นับแต่วันที่ 27 มกราคม 2549 อันเป็นวันผิดนัดสำหรับต้นเงินจำนวนที่ 25 และนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2549 อันเป็นวันผิดนัดสำหรับต้นเงินจำนวนที่ 30 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ บวกด้วยร้อยละ 0.1 ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวให้ถือตามที่ปรากฏในประกาศธนาคารโจทก์แต่ละฉบับที่มีผลบังคับในแต่ละช่วงระยะเวลาวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ข้างต้นทั้งก่อนวันที่ 18 มกราคม 2550 อันเป็นวันฟ้องและที่จะประกาศต่อไปหลังวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share