แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งโต้เถียงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกไปส่งสินค้าที่จังหวัดระยองเสร็จแล้วพาเพื่อนไปรับประทานอาหารและเยี่ยมบิดาของจำเลยที่ 1ที่จังหวัดจันทบุรี ขากลับเกิดเหตุละเมิดขึ้น จะถือว่าเป็นเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานซึ่งได้กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 หรือไม่นั้นเป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน290,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 รวมกันชำระเงินจำนวน 64,200 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันทำละเมิด วันที่ 21 มิถุนายน 2532 เป็นต้นไป จนกว่าจำชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 89,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันทำละเมิด วันที่ 21 มิถุนายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฎีกาของจำเลย ที่ 2 ที่ 3 ข้อ ข. เป็นฎีกาโต้เถียงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกไปส่งสินค้าที่จังหวัดระยองเสร็จแล้วพาเพื่อไปรับประทานอาหารและเยื่ยมบิดาของจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดจันทบุรี ขากลับเกิดเหตุคดีนี้จะถือว่าเป็นเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานซึ่งได้กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 หรือไม่ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาข้อ ค. ที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรกจึงให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เฉพาะข้อ ข. ที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ในปัญหาดังกล่าวไว้ดำเนินการต่อไป