แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การสอบสวนเรื่องหนี้สินเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อพิสูจน์ให้ได้ความตามข้ออ้างของตนว่าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริงเมื่อเจ้าหนี้ไม่ไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการสอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้โดยชอบแล้วเจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะเสนอเอกสารเป็นพยานหลักฐานของตนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในภายหลังได้อีก ในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะคับพยานหลักฐานแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์การที่เจ้าหนี้เสนอพยานหลักฐานต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นส่งไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา105การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไปโดยไม่พิจารณาพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้ยื่นไว้ต่อศาลชั้นต้นชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย)ไว้เด็ดขาด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 167,914 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์โต้แย้งว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน และเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ และลูกหนี้โต้แย้งว่า ยอดหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ไม่ตรงกับความจริง เนื่องจากลูกหนี้ได้ชำระดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้มาโดยตลอด
เจ้าหนี้ไม่ได้นำพยานหลักฐานไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงสั่งงดสอบสวนพยานเจ้าหนี้แล้วฟังว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยอ้างว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้แต่เจ้าหนี้ไม่ได้นำพยานหลักฐานไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนและไม่นำสืบให้ได้ความว่า หนี้ที่ขอรับชำระหนี้ไม่ต้องห้ามให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483จึงรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามที่ขอเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เช่นเดิม
เจ้าหนี้ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
เจ้าหนี้ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกมีว่าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้งดสอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้นมีเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และลูกหนี้โต้แย้ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดสอบสวนเจ้าหนี้และลูกหนี้ในวันที่ 13 ตุลาคม 2535 เวลา 9.30 นาฬิกาโดยกำหนดให้เจ้าหนี้นำพยานหลักฐานในการขอรับชำระหนี้ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนตามกำหนด หากไม่ไปภายในกำหนดจะถือว่าเจ้าหนี้ไม่ติดใจให้การสอบสวนและส่งเอกสารเพิ่มเติม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะพิจารณาทำความเห็นเสนอต่อศาลไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวน ครั้นถึงวันนัดเจ้าหนี้ไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และแถลงว่า ยังหาเอกสารที่จะใช้ประกอบคำให้การสอบสวนไม่พบ ขอเลื่อนไปสักนิด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้เลื่อนไปสอบสวนในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535เวลา 9.30 นาฬิกา และให้เจ้าหนี้ชำระค่าธรรมเนียมอีก 150 บาทเจ้าหนี้รับจะนำเงินมาวางเพิ่มในวันนัดสอบสวนนัดหน้าหากไม่วางถือว่าประสงค์จะขอรับชำระหนี้ตามเดิม ครั้นถึงวันนัดเจ้าหนี้ไม่ไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง การที่เจ้าหนี้ทราบกำหนดวันนัดแล้วไม่ไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และไม่แจ้งเหตุขัดข้องย่อมถือได้ว่าเจ้าหนี้ไม่ติดใจให้การสอบสวนและส่งเอกสารประกอบคำให้การ ทั้งเหตุที่เจ้าหนี้อ้างว่าต้องเดินทางไปกรุงเทพมหานครในวันที่ 30 ตุลาคม 2535 เพื่อไปดูแลแม่ยายซึ่งป่วยหนักก็เป็นเหตุผลที่เลื่อนลอยไม่น่าเชื่อ เพราะหากเจ้าหนี้มีความจำเป็นจะต้องรีบเดินทางไปตามที่อ้าง เจ้าหนี้ก็สามารถแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และแจ้งเหตุขัดข้องและขอเลื่อนไปอีกนัดหนึ่งได้ หากเจ้าหนี้กลับมาจากกรุงเทพมหานครในวันที่5 พฤศจิกายน 2535 และได้พบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันดังกล่าวจริงตามที่ฎีกา เจ้าหนี้ก็น่าจะยื่นหนังสือเป็นหลักฐานติดสำนวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ แต่ตามสำนวนความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่เสนอต่อศาลชั้นต้นในวันที่20 พฤศจิกายน 2535 กลับไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานดังกล่าวอยู่เลยจึงไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหนี้จะได้ไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จริงดังที่กล่าวอ้างพฤติการณ์ของเจ้าหนี้ดังกล่าวถือได้ว่าเจ้าหนี้ไม่สนใจที่จะไปให้การสอบสวนและส่งเอกสารต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการสอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของเจ้าหนี้ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้โดยไม่พิจารณาเอกสารท้ายคำร้องฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 ที่ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ส่งไปนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่าการสอบสวนเรื่องหนี้สินเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อพิสูจน์ให้ได้ความตามข้ออ้างของตนว่า หนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริง เมื่อเจ้าหนี้ไม่ไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการสอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้โดยชอบแล้วนั้น เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะเสนอเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของตนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในภายหลังได้อีก และในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลชั้นต้นย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะรับเอกสารไว้แทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้การที่เจ้าหนี้เสนอเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นส่งไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 105 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าจัดการให้ตามคำร้องก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเสนอพยานหลักฐานต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในภายหลังอีกได้การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไปโดยไม่พิจารณาเอกสารที่เจ้าหนี้ยื่นไว้ต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของเจ้าหนี้ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน