แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องมิได้ทักท้วงในกรณีที่ผู้ขายใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง และปล่อยให้จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางจนถึงวันเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลานานถึงประมาณ 11 เดือน โดยในระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางขับไปเรียนหนังสือนั้น แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะยกรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้ใช้เป็นยานพาหนะในการไปศึกษาเล่าเรียน อันถือได้ว่าเป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 335 (1) (7), 336 ทวิ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้โจทก์ฟ้องเข้ามาใหม่ภายใน 7 วัน และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสาม, 336 ทวิ จำคุก 7 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กฉษ สห 347 ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กฉษ สห 347 ของกลาง โดยผู้ร้องซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยงามยานยนต์สิงห์บุรี เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2541 เพื่อใช้ในครอบครัว และให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรขับไปเรียนหนังสือที่วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรีแห่งที่ 2 อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี การที่จำเลยที่ 1 ได้ไปกระทำความผิดในคดีนี้ ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ขอให้สั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง แต่เป็นของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางกระทำความผิดในคดีนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในข้อแรกมีว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ร้องมิได้ทักท้วงในกรณีที่ผู้ขายใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง และปล่อยให้จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางจนถึงวันเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลานานถึงประมาณ 11 เดือน โดยในระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางขับไปเรียนหนังสือนั้น แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะยกรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้ใช้เป็นยานพาหนะในการไปศึกษาเล่าเรียน อันถือได้ว่าเป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาสถานหนึ่ง โดยแท้แล้ว เช่นนี้ ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง เมื่อฟังได้ดังนี้ ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่เปลี่ยนแปลงผลคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน